ศูนย์วิจัยกสิกรไทย และบล.กสิกรไทย สรุปดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นท่ามกลางแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติสอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศรับแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด พร้อมกับประเมินแนวโน้มหุ้นไทยในสัปดาห์หน้า

หุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางหุ้นภูมิภาค ท่ามกลางการคาดการณ์เกี่ยวกับโอกาสในการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดในรอบการประชุมเดือนก.ย. ประกอบกับมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการเริ่มเปิดจองซื้อกองทุนวายุภักษ์ ก่อนจะแกว่งตัวในกรอบแคบระหว่างรอติดตามผลการประชุมเฟดในช่วงกลางสัปดาห์อย่างใกล้ชิด

ดัชนีหุ้นไทยดีดตัวขึ้นอีกครั้ง หลังการประชุมเฟดสอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นในภูมิภาค เนื่องจากเฟดมีมติปรับลดดอกเบี้ยถึง 0.50% ไปที่กรอบ 4.75-5.00% พร้อมกับส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยต่อเนื่องในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ ตลาดหุ้นในประเทศยังได้รับอานิสงส์เพิ่มเติมจากความหวังว่ารัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดีกรอบการปรับขึ้นของตลาดหุ้นไทยเริ่มจำกัดในช่วงท้ายสัปดาห์หลังตอบรับปัจจัยบวกไปพอสมควร อนึ่ง หุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ปรับตัวขึ้นมากสุดในสัปดาห์นี้ ขณะที่หุ้นกลุ่มแบงก์และวัสดุก่อสร้างปรับตัวลงสวนทางตลาดในภาพรวม

ในวันศุกร์ที่ 20 ก.ย. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,451.69 จุด เพิ่มขึ้น 1.92% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 61,479.97 ล้านบาท ลดลง 5.94% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 2.10% มาปิดที่ระดับ 358.97 จุด

สัปดาห์ถัดไป (23-27 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,440 และ 1,420 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,465 และ 1,475 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ตัวเลขส่งออกเดือนส.ค.ของไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนก.ย. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ดัชนี PCE/Core PCE Price Index รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลเดือนส.ค. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2567 (final) รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนก.ย. ของยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น รวมถึงกำไรบริษัทภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค.ของจีน