ผลผลิตอันหลากหลายที่ว่าส่วนหนึ่งมาจากน้ำตาลสดที่ปาดจากงวง เพราะไม่ใช่เพียงแค่การนำมาต้มเป็นน้ำตาลสดสำหรับดื่ม แต่ยังเอามาเคี่ยวในกระทะใบใหญ่จนกลายเป็นน้ำตาลปึกหรือน้ำตาลปี๊บแบบที่เรียกกันติดปาก ซึ่งความจริงก็คือ “น้ำตาลมะพร้าว” ที่บรรดาแม่ครัวเอาไว้ทำกับข้าวหรือขนมหวานสูตรดั้งเดิมของไทย ซึ่งที่นี่ไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น แต่ยังต่อยอดไปเป็นน้ำหวานจากดอกมะพร้าว หรือไซรัปที่เอาไว้ใส่ในเครื่องดื่มหรืออาหาร เลยไปจนถึงน้ำตาลมะพร้าวแบบผงและเกล็ด ที่จะต้องผ่านการเคี่ยวที่มากกว่าเดิม ตามมาด้วยกรรมวิธีแบบแฮนด์เมดทั้งทุบทั้งบี้น้ำตาลที่แข็งได้ที่ จนเป็นผงละเอียดแล้วจึงเอาไปตากในตู้อบพลังแสงอาทิตย์ และบางส่วนที่กอดกันคล้ายเกล็ดขนาดใหญ่ขึ้นมาหน่อย

เรื่องของน้ำตาลมะพร้าวยังไม่จบเท่านั้น เพราะน้ำตาลมะพร้าวยังถูกนำมาต่อยอดเพิ่มมูลค่า เป็นน้ำตาลรูปเข่งปลาทูขนาดกำลังพอเหมาะ โดยใช้น้ำตาลทรายหยอดเติมเล็กน้อยเพื่อให้มีความแข็งเพิ่มขึ้น น้ำตาลเข่งปลาทูที่ดูคล้ายอมยิ้ม นอกจากจะเป็นของที่ระลึกที่เอาไปฝากเพื่อนได้เก๋ไก๋สมกับที่มาจากแม่กลองแล้ว ร้านกาแฟบางแห่งยังซื้อต่อไปให้บริการกับลูกค้าเป็นกิมมิกน่ารัก ๆ ได้ด้วย โดยเข่งปลาทู 1 ไม้สามารถเอาลงไปคนชงกาแฟเพิ่มความหวานได้ 4-5 แก้ว ขึ้นอยู่กับความหวานที่ต้องการของแต่ละคน

ยังไม่จบ…น้ำตาลมะพร้าวยังมาเป็นส่วนประกอบหนึ่งของอาหารมื้อพิเศษที่มี แม่เล็ก-ถิรดา เอกแก้วนําชัย ประธาน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านริมคลองโฮมสเตย์ มาร่วมรังสรรค์เมนูจากวัตถุดิบพื้นบ้านให้ต่างจากเดิมกับ เชฟเบลล์-พิมพ์ทิพย์ เป้าศิลา มาสเตอร์เชฟ ซีซัน 5 ผู้ทำให้น้ำพริกกะปิกับปลาทูมารวมกับขนมครกได้อย่างไม่น่าเชื่อ และใครจะคิดว่าปลาทูก็ฟูได้ไม่แพ้ปลาดุก ส่วนกุ้งแม่น้ำที่งมมาจากริมคลองหน้าบ้านย่างทานกับน้ำจิ้มผัดฉ่าได้อย่างลงตัว

จากน้ำตาลมาต่อที่ใบ สำหรับที่นี่ไม้กวาดทางมะพร้าวอาจจะไปได้ไม่ถึง เพราะใบที่ถูกตัดมานั้นจะถูกแปรรูปไปเป็นเครื่องจักสานนานาชนิด ทั้งหมวก ตะกร้า กระเป๋า โคมไฟ แจกัน ที่ใส่กระดาษทิชชูและแน่นอนว่าห้ามลืมปลาตะเพียน และนก

ส่วนมะพร้าวอ่อนแช่เย็นเฉาะเสิร์ฟให้ทานสด มะพร้าวทึนทึกถูกนำมาขุดฝอยกวนกับน้ำตาลมะพร้าวทำไส้ขนมต้ม และอีกส่วนขูดเป็นเส้นสำหรับคลุกหลังเอาแป้งห่อและต้มจนสุก เรียกว่าแทบจะไม่มีส่วนผสมอื่นนอกเหนือจากมะพร้าว ไม่เว้นแม้กระทั่งไม้จิ้มที่เอาทางมะพร้าวมาปาดทีสองทีก็กลายเป็นไม้จิ้มรักษ์โลกสุดเก๋

ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าวและปลาทู ล้วนเป็นกิจกรรมที่ผู้มาเยือนจะได้สัมผัส เป็นฐานการเรียนรู้ที่พร้อมสอนให้สานและให้ทดลองลงมือทำ นอกจากนี้ยังมีฐานของเล่นโบราณอย่างม้าก้านกล้วยและปืน ยามค่ำก็ไม่ต้องล่องเรือออกไปหาชมหิ่งห้อยถึงไหน เพราะแค่เดินเลียบริมน้ำหน้าบ้าน หิ่งห้อยนับร้อยนับพันก็จะบินมาโชว์ตัวให้เห็น ว่ากันว่าบรรดาเรือพาชมหิ่งห้อยที่มาจากอัมพวาก็ยังต้องวนมาถึงหน้าบ้านของบ้านริมคลองโฮมสเตย์ด้วย

สมุทรสงครามเป็นหนึ่งในจังหวัดเป้าหมายของแคมเปญ “ขับรถเที่ยวเมืองรอง (เมืองน่าเที่ยว) กับบัตรเครดิตเคทีซี” ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (เคทีซี) ร่วมด้วย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) ร่วมกันผลักดันให้เกิดการเดินทางไปยัง 55 เมืองน่าเที่ยวทั่วประเทศไทย เพื่อกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน

นางสาวสมฤดี จิตรจง รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. กล่าวว่า ททท. ขานรับนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว (เมืองรอง) นำรายได้กระจายสู่ชุมชน และยังถือเป็นนโยบายที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND’S TOURISM ของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันประเทศไทยสู่เป้าหมายการเป็น Tourism Hub ที่สำคัญของโลก จึงได้ร่วมมือกับ เคทีซี ปตท. นํ้ามันและการค้าปลีก และพันธมิตร โดยตั้งเป้าหมายการออกแคมเปญในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว (เมืองรอง) ไม่ต่ำกว่า 70,000,000 บาท

นายสุวัฒน์ เทพปรีชาสกุล ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต เคทีซี  กล่าวว่า แคมเปญดังกล่าวถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระสำหรับสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซีที่วางแผนขับรถท่องเที่ยวไปยังเมืองน่าเที่ยว (เมืองรอง) 55 จังหวัด โดยจะต้องใช้บริการที่สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ที่ไม่ตรงกับจังหวัดตามใบแจ้งหนี้ของสมาชิก เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการสนับสนุนให้คนไทยเที่ยวต่างถิ่น และกระจายรายได้สู่ชุมชน.