เมื่อวันที่ 20 ก.ย. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. นำทีมผู้บริหาร กทม. ติดตามความก้าวหน้าการเชื่อมโยงการเดินทางในกรุงเทพฯ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางเพิ่มขึ้น ในกิจกรรม Bangkok Car Free 2024 ภายใต้แนวคิด Connecting For Life ระหว่างวันที่ 20-22 ก.ย. 67 


โดยกิจกรรมแรกในวันนี้ ผู้บริหาร กทม. สำนัก และสำนักงานเขต พาไปชมวิธีการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยบรรยากาศแบบสด ๆ ที่จะทำให้เห็นว่ามีบริการที่หลากหลายในการเดินทางในกรุงเทพฯ


ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า เราอยากให้ทีมงาน กทม. ใช้รถขนส่งสาธารณะในการมาทำงาน ซึ่งประโยชน์ของเรื่องนี้มี 2 มิติ คือเพื่อส่งเสริมเรื่อง Car Free Day ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ลดมลพิษ และอีกมิติเพื่อให้เราเห็นปัญหาของประชาชนในการใช้ขนส่งสาธารณะ และเราจะปรับปรุงอะไรได้บ้าง แม้บางอย่างจะเหนืออำนาจของ กทม. แต่จุดรอยต่อต่าง ๆ เช่น ทางเท้า ทางลาด ก็เป็นหน้าที่ กทม. ที่จะปรับปรุง โดยการเดินทางเช่นนี้อยากจะทำตลอดไม่ใช่แค่ปีละครั้ง แต่เป็นทุกเดือน ทุกสัปดาห์ และทุกวัน หากมีโอกาส


“ถ้าเราไม่ทำเป็นตัวอย่าง ก็ยากที่จะไปพร่ำบอกให้ประชาชนใช้ขนส่งสาธารณะและสนับสนุนประชาชน จะเป็นเพียงแค่ทำเพื่อสร้างภาพ เพราะเมืองที่เจริญแล้วไม่ใช่เมืองที่ผู้มีรายได้น้อยมีรถยนต์ขับ แต่เป็นเมืองที่ทุกคนใช้รถขนส่งสาธารณะ” 

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า ภาพรวมปัญหาของการเดินทางที่เห็น อย่างแรกคือ ด้วยความที่กรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งซอยตัน โดยพบว่าซอยใน กทม. 60% เป็นซอยตัน คนที่บ้านอยู่ในซอยลึก ๆ ออกมาลำบาก อาจต้องปั่นจักรยานมาจอดแล้วต่อรถ สิ่งนี้ทำให้เห็นว่าการเชื่อมต่อ First Mile กับ Last Mile ต้องทำให้ดี อาจต้องเพิ่ม Feeder รับส่งข้างใน


อย่างที่สองคือ ต้องเดินทางหลายต่อกว่าจะถึงจุดหมาย ซึ่งอาจไม่ได้เป็นปัญหามากเพราะทั่วโลกก็เป็นเช่นนั้น แต่ถ้าราคาค่าโดยสารไม่เชื่อมโยงกันจะทำให้ค่าโดยสารต่อวัน ต่อเดือนสูงมาก เมื่อเทียบกับรายได้ผู้ใช้บริการ ซึ่งค่าเดินทางไม่ควรเกิน 10% ของรายได้ หากรัฐบาลจะช่วยเรื่องค่าขนส่งให้ถูกลง เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนเลือกใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น 


อย่างที่สาม คือจุดเชื่อมต่อ เช่น ทางลาด ทางเท้า ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น มีหลายประเด็นที่ผู้บริหาร กทม. ได้เห็นในวันนี้ก็จะนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้น


สำหรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าหากจะทำให้ถูกลงนั้น ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า  มีสองส่วน คือ ปัจจุบันรถไฟฟ้าส่วนใหญ่เจ้าของคือรัฐบาล หากจะแก้ภาพรวม รัฐบาลก็ต้องมีส่วนร่วม อีกประการเป็นเรื่องสัญญาสัมปทาน ซึ่งเมื่อก่อนเราให้สัญญาสัมปทานเป็นรูปแบบ Net cost คือ ให้เอกชนเอาสิทธิไปและจะคิดค่าโดยสารเท่าไหร่เป็นไปตามสัญญา ซึ่งยากที่จะไปแก้ให้ถูกลง เช่น BTS ได้คำนวณค่าโดยสารไว้แล้วตามสัญญาถึงปี 2572 หากเราจะให้ลดราคา เราต้องชดเชยเงินให้ อนาคตสัมปทานอาจเป็นรูปแบบจ้างเดินรถแทน และรัฐรับผิดชอบค่าโดยสารซึ่งจะปรับให้พอดีกับประชาชนได้ง่ายขึ้น


สำหรับรถโดยสารของ กทม. เช่น Feeder นั้นยอมรับว่ามีไม่เพียงพอกับประชาชน ต้องหาทางขยายหรือหาแนวร่วม โดยตอนนี้ให้บริการฟรีแต่อนาคตต้องหารูปแบบให้อยู่ด้วยตัวเองได้ แต่อยากให้เอกชนซึ่งมีความสามารถมากกว่ามาร่วมทำตรงนี้ รูปแบบคือเราลองทำให้เป็นรูปเป็นร่างเปิดเส้นทางใหม่ ๆ และเมื่อมีความต้องการจากประชาชนมากขึ้นคิดว่าจะมีเอกชนเข้ามารับช่วงต่อ


สำหรับกิจกรรมที่สองจะมีขึ้นในวันที่ 21-22 ก.ย. นี้ ซึ่งจะเกิดขึ้นในย่านสร้างสรรค์ของกรุงเทพฯ คือ ย่านบรรทัดทอง โดยมีการทดลองทำถนนคนเดิน จากซอยจุฬาฯ 12 ถึงซอย 20 ในช่วงเวลา 16.00-24.00 น. ด้วยความร่วมมือของสำนักงานเขตปทุมวัน สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้คนในย่าน ทั้งนี้ ไม่ใช่การปิดถนน แต่เป็นการเปิดเดินรถทางเดียว 1 ช่องจราจร จากอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไป STADIUM ONE สำหรับรถที่จะวิ่งจาก STADIUM ONE ไปทางอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถใช้เส้นทางซอยจุฬาฯ 5 ได้ โดยกิจกรรมในครั้งนี้จะให้ประชาชนร่วมทำแบบสอบถามความคิดเห็นต่อการจัดงาน ซึ่งหากได้ผลตอบรับที่ดีก็จะเสนอเพื่อทำต่อเนื่องระยะยาวต่อไป

“สำหรับกิจกรรม Bangkok Car Free 2024 ที่ถนนบรรทัดทอง ถือเป็นการทดลองรูปแบบหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงต้องมีการทดลองซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการทำในหลายประเทศ เป็นการทำ Street Diet ลดเลนถนนและเปิดให้คนได้เดินมากขึ้น อยากให้ทุกคนได้มาลองเดินกันและคิดอย่างไรก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ เพื่อที่ กทม. จะได้นำไปปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว