นายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนได้ตอบกระทู้ถามด้วยวาจา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เรื่องประเทศไทยผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่เพียงพอต่อความต้องการการผลิตอาหารสัตว์ แต่ทำไมราคาข้าวโพดของเกษตรกรจึงยังคงตกต่ำทุกปี โดยตนได้ชี้แจงไปว่า ในภาพรวมปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของประเทศไทยผลิตได้ประมาณ 4.9-5 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้มีประมาณ 8.7 ล้านตัน แต่ปัญหาคือการกระจุกตัวของผลผลิต โดยจะออกพร้อมกันประมาณ 70-80% ช่วงกันยายน-ธันวาคม ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวลดลง สำหรับราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (เกษตรกรขายได้) ความชื้น 14.5% อยู่ที่ 9 บาท 75 สตางค์ต่อกิโลกรัม ลดลงจากปีก่อน 5% แต่สูงกว่าราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ที่ 9 บาท 67 สตางค์ต่อกิโลกรัม (เพิ่มขึ้น 1%) และโรงงานอาหารสัตว์รับซื้อ อยู่ที่ 10 บาท 49 สตางค์ต่อกิโลกรัม ซึ่งลดลงจากปีก่อน 5% แต่สูงกว่าราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ที่ 10 บาท 40 สตางค์ต่อกิโลกรัม (เพิ่มขึ้น 1%)

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการของรัฐในการช่วยพยุงราคาหรือช่วยเหลือเกษตรกร ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินมาตรการในการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงที่ผลผลิตออกมาก เพื่อไม่ให้การกระจุกตัวของผลผลิตส่งผลต่อราคาที่เกษตรกรจะได้รับ โดยให้สถาบันเกษตรกร ผู้รวบรวม รับซื้อผลผลิตและเก็บไว้รอจำหน่ายในช่วงที่ราคาเหมาะสม ส่งผลให้ราคาที่เกษตรกรได้รับอยู่ในเกณฑ์ดีและเป็นธรรม จากผลกระทบฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ในช่วงนี้ ทำให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีความชื้นสูง ประกอบกับเกษตรกรเร่งเก็บผลผลิตที่ยังไม่ครบอายุ ส่งผลให้พ่อค้ารวบรวมปรับปรุงคุณภาพไม่ทัน มีการชะลอการรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร ในเรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน และสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ออกสู่ตลาดมาก โดยจะนำผู้ซื้อนอกพื้นที่เข้าไปรับซื้อในพื้นที่ที่มีผลผลิตออกกระจุกตัว หากผู้รวบรวมในพื้นที่ไม่สามารถรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรได้ รวมทั้งกำกับดูแลการรับซื้อให้มีความเป็นธรรม ทั้งด้านคุณภาพและราคา นอกจากนี้ ยังได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวโพด แก่ หรือครบอายุ และไม่เก็บเกี่ยวข้าวโพดที่ยังไม่สุกเต็มที่ จะทำให้ได้คุณภาพและได้รับราคาที่สูงขึ้น

นายสุชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับคำถามที่ว่า หากราคาข้าวโพดของเกษตรกรยังตกต่ำ ทางกระทรวงพาณิชย์จะสั่งให้งดการนำเข้าข้าวสาลีและข้าวโพดจากต่างประเทศได้หรือไม่ หรือจะสามารถกำหนดช่วงเวลาในการนำเข้าข้าวสาลีได้หรือไม่อย่างไรนั้น ตนได้ชี้แจงว่า ประเทศไทยต้องมีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทนจากต่างประเทศ เพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งที่ผ่านมา มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดมาตรการการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้กรอบ AFTA เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในประเทศ โดยกำหนดช่วงเวลาให้ผู้นำเข้าสามารถนำเข้าจากเพื่อนบ้านได้ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-สิงหาคม 2567 อย่างไรก็ตาม ขอเน้นย้ำว่า ขณะนี้มาตรการกำหนดช่วงเวลานำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยังคงมีผลบังคับใช้ ซึ่งในช่วงกันยายน-ธันวาคม 2567 จะเป็นช่วงที่ผู้นำเข้าทั่วไปไม่สามารถนำเข้าได้ และกรมการค้าภายในได้หารือกับโรงงานอาหารสัตว์ให้รับซื้อผลผลิตอย่างต่อเนื่อง ไม่ส่งผลกระทบต่อราคาอย่างไม่มีเหตุผล สำหรับมาตรการกำหนดให้ต้องรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วน ต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ยังคงมีผลบังคับใช้เช่นเดียวกัน และกระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างการพิจารณานำเสนอคณะกรรมการนโยบายอาหาร และคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) เพื่อพิจารณามาตรการการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ รวมทั้งมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงความสมดุล ด้านการผลิตและการค้า ตลอดจนราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศอย่างละเอียดรอบคอบ