นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยภายหลังหารือกับ 14 องค์กรภาคเอกชนท่องเที่ยวเมื่อวันที่ 18 ก.ย. ว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าภาคเอกชนควรเป็นผู้นำในการดำเนินกิจกรรมและอีเวนต์ต่างๆ ที่ปกติทำอยู่แล้วและมีแผนทำในอนาคต โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะเข้าไปสนับสนุน เช่น หากจังหวัดนั้นๆ มีอีเวนต์ที่เอกชนจะเข้าไปจัด กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะต้องวางแผนให้รอบด้านเพื่อจูงใจนักลงทุนหรือเอกชนผูกสัญญาจัดอีเวนต์ระยะยาว 5-10 ปี พร้อมวางเส้นทางไปเที่ยวจังหวัดใกล้เคียงเพื่อโปรโมตนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง

“จาก 1 ปีที่รัฐบาลเพื่อไทยเข้าบริหารประเทศ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เข้านั่งเก้าอี้แล้ว 2 คน คนที่ 3 คือตัวผม ถ้ารัฐบาลอยู่นานแค่ไหน ผมก็อยู่นานเท่านั้น โดยจะตั้งดัชนีชี้วัดการทำงาน หรือเคพีไอ ของตัวเองภายในสิ้นปีนี้จะต้องผลักดันนักท่องเที่ยวต่างชาติไปให้ถึง 36.7 ล้านคน และสร้างรายได้รวมการท่องเที่ยวไปให้ถึงเป้าหมาย 3 ล้านล้านบาท ส่วนเป้าที่อดีตนายกฯ เศรษฐา ซึ่งเป็นนักธุรกิจ จึงมองเป้าไว้สูง แต่ยอมรับว่าเป็นเป้าที่เหนื่อย แต่ทุกภาคส่วนพร้อมผลักดันให้ใกล้เคียงเป้าหมายของอดีตนายกฯ ให้มากที่สุด” นายสรวงศ์ กล่าว

ขณะเดียวกันที่ประชุมยังมีความเห็นตรงกันที่จะต้องนำโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” กลับมากระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยอีกครั้ง เพราะเป็นโครงการที่ได้ผลจริง ขอให้ลบความคิดด้านการเมืองไปเลย เพราะอะไรที่ประชาชนได้ประโยชน์เราต้องทำ

“สำหรับผมไม่เขินที่จะนำโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งประสบความสำเร็จในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเป็นเครื่องมือที่สามารถกระตุ้นการเดินทางของตลาดไทยเที่ยวไทยได้ทุกระดับ จึงมอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดทำโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟสใหม่ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเพื่อเสนอของบประมาณมาดำเนินการ โดยเมื่อเช้าวันที่ 18 ก.ย. นายกฯ แพทองธาร ได้เรียกเพื่อหารือสถานการณ์ท่องเที่ยวและหามาตรการกระตุ้น ก็ได้รายงานว่าจะฟื้นโครงการเราเที่ยวด้วยกันขึ้นมา ซึ่งทางนายกฯ ก็เห็นด้วย”

ด้านประเด็นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือ ค่าเหยียบแผ่นดิน ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เร่งดำเนินการ ว่าควรจัดเก็บอย่างไร และกำหนดวัตถุประสงค์ของการใช้เงินที่จะจัดเก็บในรูปแบบของกองทุนให้ชัดเจน ว่าจะนำเงินไปเป็นทุนในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ซ่อมสร้าง อาทิ ห้องน้ำ ดูแลบุคลากรภาคการท่องเที่ยว และดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติในรูปแบบประกันภัยการเดินทาง

“อีกประเด็นคือการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น ชอปปิง เดสติเนชัน หรือจุดหมายปลายทางการชอปปิง ตอนนี้มองถึงแนวทางการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแท็กรีฟันด์ เบื้องต้นอาจใช้โมเดลคล้ายกับประเทศญี่ปุ่น ที่นักท่องเที่ยวสามารถยื่นขอคืนภาษีฯ ณ จุดขายได้เลย ซึ่งส่วนนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งกระทรวงการคลัง กรมสรรพากร และภาคเอกชนด้วย”

นายสรวงศ์ กล่าวว่า ภาคเอกชนท่องเที่ยวได้มีข้อเสนอหลายประเด็น เกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว เช่น ส่งเสริมท่องเที่ยววันธรรมดา บางทีมีมาตรการส่งเสริม แต่พอเดินทางไปถึงแล้ว แต่สถานที่ท่องเที่ยวไม่พร้อมรองรับ เช่น ตลาดน้ำดำเนินสะดวก ซึ่งเปิดเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่าควรจะมีโครงการใหม่ที่จะดำเนินการควบคู่ไปด้วย นั่นคือโครงการ “วัน แม็พ ทัวริสซึ่ม” ที่จะเป็นคู่มือให้นักท่องเที่ยวเดินทาง ประกอบด้วยข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว ปฏิทินกิจกรรม และไฮไลต์สินค้าท่องเที่ยว 5 Must Do in Thailand เพื่อให้เห็นกิจกรรมท่องเที่ยวได้ครบทั้งหมด

ด้านแนวทางกระตุ้นท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่น 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ (ต.ค.-ธ.ค.) ผู้ประกอบการสะท้อนถึงตลาดที่มีศักยภาพสูงว่าควรเร่งขยาย หนึ่งในนั้นคือตลาดนักท่องเที่ยวอินเดีย ด้วยการเพิ่มเที่ยวบินตรง รวมถึงเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) เข้าสู่เมืองหลักและเมืองรองของประเทศไทย พร้อมทำแคมเปญ “ฟิล์ม ซิตี้” เพื่อดึงภาพยนตร์บอลลีวูด เข้ามาถ่ายทำให้เมืองไทย รวมถึงการทำตลาดดึงคู่แต่งงานอินเดียมาจัดในไทย หลังพบยอดการใช้จ่ายสูง 5 ล้านบาทต่องาน ด้านตลาดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น เนื่องจากปัจจุบันมีชาวญี่ปุ่นเข้ามาอาศัยและทำงานในไทยมากขึ้น ถือเป็นกลุ่มที่มีคุณภาพและนิยมเดินทางเป็นครอบครัว จึงต้องโปรโมตเส้นทางท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์ เช่น เมืองน่าเที่ยว โดยเฉพาะช่วงวันนักขัตฤกษ์ เพราะกลุ่มนี้สามารถขับรถเที่ยวในไทยเองได้