เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ผศ.ดร.คณกร สว่างเจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันวิจัยและพัฒนา มบส. ได้รายงานผลการดำเนินงานโครงการการให้คำปรึกษาและข้อมูลเทคโนโลยี (Technology Consulting Service: TCS) ในพื้นที่อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ รวมถึงผลผลิตชุมชนให้มีมาตรฐาน ภายใต้กิจกรรมส่งเสริมการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและเศรษฐกิจชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ผลปรากฏว่าสถาบันวิจัยและพัฒนา มบส. ได้ให้คำปรึกษาและข้อมูลเทคโนโลยี ดังนี้ 1. การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เหลือทิ้งจากภาคการเกษตร เช่น มะพร้าว และจากครัวเรือน เปลือกไข่ 2.เทคโนโลยีการออกแบบลวดลายและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้ามัดย้อม 3. การสร้างอัตลักษณ์สู่ผลิตภัณฑ์และบรรรรจุภัณฑ์บนฐานทุนวัฒนธรรมชุมชน 4.การพัฒนากระบวนการและผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพจากข้าวและรำข้าว

ผศ.ดร.คณกร กล่าวต่อไปว่า 5. การพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชสมุนไพร และการสกัดฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากพืชสมุนไพร 6.การให้ความรู้ด้านตลาดดิจิทัลและการทำคอนเทนต์และสื่อสารการตลาด 7.การให้ความรู้ด้านการเป็นผู้ประกอบการและการจัดการธุรกิจ 8. การพัฒนาและออกแบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การออกแบบเว็บไซต์ การจัดการฐานข้อมูล และ 9. การออกแบบกราฟิกสื่อสาร การออกแบบสื่อดิจิทัลและการพัฒนาระบบ ซึ่งการติดตามและประเมินผลผลิตและตัวชี้วัดจากผู้รับบริการจากการบันทึกในระบบคลินิกเทคโนโลยีออนไลน์ 40 คน ผู้รับบริการข้อมูลเทคโนโลยี 120 คน ผู้รับบริการมีความพึงพอใจ 85%โดยผู้รับบริการจากข้อมูลในระบบ CMO ซึ่งเป็นข้อมูลเทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด 20 รายการต่อปี ข้อมูลผู้เชี่ยวชาญ 20 รายการต่อปี และข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ให้รับการพัฒนา 20 รายการต่อปี

“สิ่งที่ มบส.คาดว่าจะได้รับในทางเศรษฐกิจคือการสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ด้วยการยกระดับศักยภาพ การสร้างอาชีพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของชุมชนภายใต้อย่างยั่งยืน เพิ่มช่องทางการตลาดสู่เชิงพาณิชย์เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ชุมชน ส่วนทางสังคมจะมีส่วนร่วมของชุมชน เกิดการรวมกลุ่มในชุมชนและเครือข่ายอันจะเป็นการสร้างงานและสร้างรายให้แก่ชุมชน อันจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของชุมชนดีขึ้นและนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้องค์ความรู้ที่ได้จากการจัดการความรู้ยังจะเป็นประโยชน์แก่ชุมชนอื่นๆ ในการประยุกต์ใช้ การขยายผลและสร้างเครือข่ายในชุมชนของตนเอง และสร้างกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ในกลุ่ม การรวมกลุ่มสมาชิก สร้างเสริมความรักและความสามัคคี มีความภูมิใจในตนเอง และมีสุขภาพทางกายและจิตใจที่ดี” ผศ.ดร.คณกร กล่าว