เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่บริเวณประตูระบายน้ำคลองภูมินาถดำริ (คลอง ร.1) อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตรวจติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมี นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นางสาวสุนารี บุญชุบ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอหาดใหญ่ นายสุรศักดิ์ ทองปนแก้ว หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 6 โครงการชลประทานสงขลา ร่วมลงพื้นที่

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ในวันนี้ได้มีโอกาสลงพื้นที่ตรวจติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งจังหวัดสงขลา ได้บูรณาการร่วมกับโครงการชลประทานสงขลา ที่ทำการปกครองอำเภอหาดใหญ่ และเทศบาลขนาดใหญ่ในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ คือ เทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลเมืองควนลัง และเทศบาลเมืองคอหงส์ ในการบริหารจัดการน้ำที่ในอดีตคนหาดใหญ่จะต้องระดมทุกข์ เพราะฝนตกหนักทีไรนครหาดใหญ่ก็จะเละ น้ำท่วมสูงเป็นเมตร แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานพระราชดำรัส เมื่อปี 2531 แก่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงเกิดเป็นโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริพระราชดำริ เพื่อแบ่งปันมวลน้ำของคลองอู่ตะเภาที่เป็นคลองธรรมชาติสายหลักจากอำเภอสะเดาไหลลงมาสู่อำเภอหาดใหญ่และลงสู่ทะเลสาบสงขลา ออกเป็น 2 ทาง โดยทางสายเดิม คือแนวคลองอู่ตะเภาเดิมที่ไหลเข้าเมือง และอีกสายหนึ่ง จะไหลไปตามแนวถนนเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ ไปลงที่ทะเลสาบสงขลา ส่งผลให้ปัจจุบัน “คลองภูมินาถดำริ” หรือคลองระบายน้ำที่ 1 (คลอง ร.1) มีความยาว 21.343 กม. สามารถระบายน้ำได้ 465 ลบ.ม./วินาที เป็นคลองสายหลักที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองหาดใหญ่ เนื่องจากเป็นคลองที่แบ่งน้ำจากคลองอู่ตะเภาช่วงก่อนเข้าเมืองหาดใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นทางด่วนของน้ำที่มาจากต้นคลองอู่ตะเภาในพื้นที่อำเภอสะเดา หาดใหญ่ตอนบน นาหม่อม และน้ำจากเขาคอหงส์บางส่วนให้ไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลาอย่างรวดเร็วแทนการไหลผ่านคลองอู่ตะเภาเพียงอย่างเดียวเหมือนเช่นในอดีต

“จากการตรวจเยี่ยมในวันนี้ ทำให้เกิดความมั่นใจ คือ ประการที่ 1) ทุกภาคส่วนเตรียมพื้นที่ที่จะรองรับฝนตกหนัก ทำให้ระบบพร่องน้ำและระบบระบายน้ำต่าง ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประการที่ 2) ขณะนี้น้ำจากต้นทาง คือ อำเภอสะเดา เขตชายแดนไทย-มาเลเซียที่จะไหลมาที่อำเภอหาดใหญ่ ได้มีอ่างเก็บน้ำอยู่ 3 ลูก ความจุรวม 85 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้มีปริมาณน้ำเพียง 45% ยังเหลืออีก 55% จึงจะเต็มความจุ อันมีนัยสำคัญว่า ยังสามารถรองรับมวลน้ำจำนวนมากได้ ในขณะเดียวกันคลองอู่ตะเภา และคลองภูมินาถดำริ ก็ยังมีระดับน้ำที่ต่ำมาก ซึ่งถ้าสังเกตด้วยตาก็ดูไม่ต่ำกว่า 4 เมตร ดังนั้นพี่น้องชาวอำเภอหาดใหญ่และชาวจังหวัดสงขลา ยังคงใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยไม่ต้องวิตกกังวลอะไรมาก และขณะเดียวกันทางโครงการชลประทานสงขลาได้วางระบบในการที่จะมีระบบโทรมาตรเตือนภัย ตั้งแต่เลยพื้นที่อำเภอสะเดามา จำนวน 2 จุด เพื่อเตือนภัยให้ทราบถึงสถานการณ์ระดับน้ำในคลองอู่ตะเภา และปริมาณน้ำฝนที่ตกจากท้องฟ้า ซึ่งทำให้เราสามารถรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าได้ ควบคู่การแจ้งเตือนภัยด้วยทีมจิตอาสาเฝ้าระวัง และค่อยแจ้งบอกเหตุโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฝ่ายปกครอง และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ ได้จัดตั้งอาสาสมัคร ทั้ง อปพร. และอาสาสมัครแจ้งเหตุ เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่อาศัยตลอดลำน้ำอู่ตะเภาได้เป็นหูเป็นตาและคอยส่งข่าวการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ เพื่อที่จะแจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบโดยเร็ว” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

จากนั้นนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ เดินทางต่อไปยังสถานีสูบน้ำปลายคลองเตย (ข.7) เทศบาลนครหาดใหญ่ โดยมี นายอาหมัด เบ็ญอาหลี และนายวินัย ปิ่นทอง รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ ให้การต้อนรับนายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า จากการได้รับฟังบรรยายสรุปของท่านรองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ จึงขอเรียนว่า พี่น้องชาวเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ทุกท่านมั่นใจได้ ด้วยความร่วมมือกันระหว่างเทศบาลนครหาดใหญ่ โครงการชลประทานสงขลา จังหวัดสงขลา และอำเภอหาดใหญ่ ที่ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำตลอดทั้งลุ่มน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ขณะเดียวกัน เทศบาลนครหาดใหญ่ได้ดำเนินการขุดลอกคูคลองจุดต่าง ๆ ตลอดเส้นลำน้ำ เกือบครบ 100% ซึ่งในด้านเครื่องไม้เครื่องมือนั้น ในขณะนี้ศักยภาพของการสูบน้ำ ระบายน้ำของสถานีสูบน้ำปลายคลองเตยออกไปนอกเขตเมือง มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะได้รับงบประมาณจากทางรัฐบาลเมื่อปีงบประมาณ 2565 ทำให้เปลี่ยนเครื่องสูบน้ำ 18 ตัว ที่สถานีสูบน้ำปลายคลองเตย ให้มีความพร้อมเต็มกำลัง

“แต่อย่างไรก็ดีในเชิงการบริหารจัดการน้ำทั้งลุ่มน้ำ ได้สั่งการให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาและหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา ได้หารือกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และท่านนายอำเภอที่อยู่ต้นน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำเภอนาหม่อม คือ คลองแม่เรียนที่จะไหลมาถึงหาดใหญ่ ให้ได้ช่วยกันนำศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำแบบยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการนำเอาจิตอาสามาช่วยกันทำฝายแม้ว ทำหลุมขนมครกที่อำเภอนาหม่อม เพื่อทำให้ลำน้ำแม่เรียนเกิดความอุดมสมบูรณ์ ชะลอการไหลของน้ำ ดังที่พระองค์ทรงสอนว่า ให้ช่วยทำฝายแม้วเพื่อชะลอน้ำ ทำหลุมขนมครกไว้ที่ลำห้วย ที่บริเวณใกล้เคียง ทำรากฝอยให้กับแม่น้ำ ห้วย เพราะแม่น้ำ ลำคลองเป็นเหมือนรากแก้ว ที่เราสามารถเพิ่มรากฝอยเพื่อให้ในพื้นที่มีต้นไม้ที่ทำให้ผืนแผ่นดินมีโอกาสอุ้มน้ำเพิ่มมากขึ้น พืชพันธุ์เจริญงอกงาม” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอขอบคุณทางโครงการชลประทานสงขลา เทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลเมืองควนลัง และเทศบาลเมืองคอหงส์ ที่ผนึกกำลังร่วมกับท่านนายอำเภอ และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ร่วมกับประชาชน และภาคีเครือข่าย ในการดูแลป้องกันแก้ไขและช่วยเหลือพี่น้องในทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง โดยหากประชาชนพบเห็นเหตุสาธารณภัย หรือมีข้อแนะนำในการป้องกันสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น สามารถโทรฮอตไลน์สายด่วนนิรภัยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 1784 และศูนย์ดำรงธรรม 1567 โทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง รวมไปถึงสิ่งที่ต้องการความช่วยเหลือและเหตุทุกเรื่อง ขอให้ได้แจ้งเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน มันจะทำให้พี่น้องประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข และทำให้อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาไม่ต้องประสบกับอุทกภัยอย่างยั่งยืน