อุณหภูมิการเมืองไทยแปรผันไปตามหลากหลายเหตุการณ์ และความเคลื่อนไหวของหลายฝ่าย ซึ่งไม่ได้มีแค่ในส่วนของนักการเมือง แต่ยังมีบรรดาบุคคลที่ยื่นร้องเรียนต่อองค์กรอิสระหรือหน่วยงานต่างๆ ให้ตรวจสอบสารพัดเรื่อง

ซึ่งการร้องเรียนบางกรณีนำพาให้เกิดปรากฏการณ์ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในบ้านเมือง อาทิ กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคการเมือง และการวินิจฉัยตัดสินให้ผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากผิดจริยธรรมร้ายแรงเพียงเพราะแต่งตั้งผู้ที่ขาดคุณสมบัติให้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

โดยระยะหลังๆ ได้เห็นกันแล้วว่าบุคคลที่เดินสายยื่นร้องเรียนที่ว่านี้ หรือเหล่านักร้องทางการเมือง เคลื่อนไหวคึกคัก ขณะเดียวกัน ยิ่งเกิดการจับตา จับจ้อง จับผิด หรือติดเครื่องสแกนตรวจสอบมาตรฐานจริยธรรมในหลายเรื่องราว จนบางครั้งทำให้มีกระแสดราม่าในสังคมเพิ่มขึ้น

ทั้งเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมนั้น อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 ที่ถูกยกร่างในสมัยรัฐบาล “คสช.” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมความประพฤติของนักการเมือง โดยมาตรา 219 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเป็นผู้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นมาบังคับใช้ ซึ่งในการจัดทำต้องรับฟังความเห็นของสภาผู้แทนราษฎร (สส.) สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วย

แต่หลังจากจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมนี้เสร็จ และประกาศใช้เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2561 รัฐธรรมนูญมาตรานี้บัญญัติให้บังคับใช้มาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าวกับ สส. สว. และครม.ด้วย นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เกิดข่าวคราวของนักการเมืองถูกเหล่า “นักร้อง” ยื่นเรื่องต่อองค์กรนั้นๆ ให้ดำเนินคดี ซึ่งมีหลายรายถูกสอยร่วงจากตำแหน่ง ถูกลงโทษ บางรายถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ลามไปถึงแต่ละฝ่ายเปิดเกมสร้างนิติสงครามใส่กัน

ฝ่ายการเมืองเห็นพ้องว่ามาตรฐานทางจริยธรรมเป็นยาแรงเกินไป สุดจะทนไหว พรรคการเมืองต่างๆ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “พรรคเพื่อไทย” และ“พรรคประชาชน” พร้อมใจใช้โอกาสการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เดินหน้าจัดการยกเครื่องปรับแก้มาตรฐานจริยธรรมที่ไม่มีขอบเขตชัดเจน

โดย “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า พรรคเพื่อไทยเป็นเจ้าภาพ กำลังเร่งยกร่าง ตีกรอบกฎหมายตรงนี้ให้มีความชัดเจน เป็นการแก้ไขแบบพอดีๆ ป้องกันการใช้กลั่นแกล้งกัน คาดว่าจะยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์หน้า

ขณะที่ “ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒนสกุล” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และประธานวิปฝ่ายค้าน ระบุว่า พรรคประชาชนยื่นร่างแก้ไขฯ แล้ว ปรับแก้จริยธรรมทั้งระบบ เกี่ยวพันถึงการใช้อำนาจขององค์กรอิสระ หากจะมองว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนได้ของสส. ก็จะแก้อะไรไม่ได้

ถือว่าเรื่องนี้เป็น “ดาบสองคม” ที่คนผลักดันต้องคิดให้รอบคอบ ต้องพิสูจน์ให้ชัดว่าทำอย่างพอดีและจริงใจ เพื่อยืนยันว่าทำเพื่อบ้านเมือง

มิฉะนั้นจะกลายเป็นหอกดาบทิ่มตำย้ำว่านักการเมืองไม่ว่าจะสีไหน ก็ทำไปเพื่อตัวเองทั้งนั้น.