จากสถานการณ์น้ำท่วมทางภาคเหนือที่เป็นปัญหาใหญ่อยู่ตอนนี้ นอกจากความเสียหายในทรัพย์สินที่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนแล้วปัญหาอื่นที่ตามมายังมีในเรื่องของ โรคในช่วงน้ำท่วมที่ต้องระวัง โดย รศ. พญ.ณัฏฐา รัชตะนาวิน สาขาวิชาโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ออกมาเปิดเผยถึงการดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากโรคในช่วงน้ำท่วม  ซึ่ง ปัญหาที่พบบ่อยในสถานการณ์น้ำท่วม  มักจะเจอปัญหาของ “น้ำกัดเท้า” ทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง เปื่อย และทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น โดยปกติแล้วขณะที่ผิวหนังแห้งสนิทจะมีภูมิคุ้มกันที่ดี ส่วนในร่างกายของคนปกติที่ไม่มีโรคประจำตัวหรือไม่มีปัญหาทางด้านภูมิคุ้มกัน แต่เมื่อผิวหนังแช่น้ำนานกว่า 1 ชั่วโมง ผิวหนังจะเปื่อย ทำให้แบคทีเรียและเชื้อราเติบโตได้ง่าย

หลังจากที่แช่น้ำมาสิ่งที่ควรปฏิบัติคือ

ควรทำความสะอาด ฟอกสบู่บริเวณที่แช่น้ำ หากผิวหนังแค่ระคายเคืองก็ให้เช็ดให้แห้ง แต่หากผิวหนังเริ่มเปื่อยแล้วหลังฟอกสบู่เสร็จควรใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน แอลกอฮอล์ ฯลฯ  เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรียหรือเชื้อราที่จะทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา

โรคที่มักมาจากการแช่น้ำ

หากสาเหตุจากน้ำเพียงอย่างเดียวจะไม่รุนแรง อย่างดีก็แค่น้ำกัดเท้าที่ทำให้หนังกำพร้าเปื่อยและเกิดการระคายเคือง แต่ส่วนมากในภาวะน้ำท่วมขัง ในน้ำมักมีสิ่งแปลกปลอมอยู่เยอะ เป็นแหล่งเชื้อโรคมากมายอย่างเชื้อแบคทีเรียตามท่อหรือแบคทีเรียในดินและอื่น ๆ ทำให้เกิดการติดเชื้อตามมา อาจเป็นฝี เป็นตุ่ม รวมถึงการถูกกัดต่อยจากแมลงและสัตว์มีพิษที่แฝงมากับน้ำท่วม เช่น ตะขาบ ทำให้เกิดอันตรายได้ หรืออาจจะเป็นยุงมักแพร่พันธุ์ได้ดีในช่วงน้ำท่วม ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกตามมา เป็นต้น

ระยะเวลาในการแช่น้ำหากแช่ในเวลานานจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียและถ้าหากนานมาก ๆ จะมีโอกาสเกิดเชื้อราได้ หากผิวหนังเปื่อยจากการแช่น้ำและหนังกำพร้าหลุดลอกออกไปเยอะ หรือเกิดรอยแตก เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายทางนั้น ควรใช้ยาฆ่าเชื้อ แต่ถ้าหากเป็นยาวนานถึงสัปดาห์แล้วไม่หาย อาจมีอาการเชื้อราร่วมด้วย

อาการน้ำกัดเท้า

โดยปกติจะไม่ได้รุนแรง แต่ในบางกรณีสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคตับ หรือไตเรื้อรัง เชื้อโรคอาจผ่านเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่าย ส่วนในคนที่เป็นโรคผิวหนังอยู่แล้วอาการอาจจะรุนแรงขึ้น เช่น สะเก็ดเงิน ภูมิแพ้ ดังนั้นในคนกลุ่มนี้ควรมีการป้องกันตัวเองให้ดี โดยการหลีกเลี่ยงการแช่น้ำเท่าที่จะทำได้ อาจหารองเท้าสำหรับป้องกันน้ำมาสวมใส่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการสวมใส่รองเท้าชนิดนี้นานเกินไปก็จะทำให้เหงื่อออก และเกิดความชื้นได้เช่นกัน จึงควรปฏิบัติอย่างเหมาะสม

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ที่ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม

ควรหลีกเลี่ยงการแช่น้ำ หากจำเป็นต้องมีการแช่น้ำหลังจากนั้นต้องทำความสะอาดฟอกสบู่เพื่อฆ่าเชื้อโรค และเช็ดให้แห้งสนิท อาจมีการใส่ยาฆ่าเชื้อประเภทเบตาดีน แอลกอฮอล์ เพื่อฆ่าเชื้อโรคในเบื้องต้น สำหรับเด็ก ๆ ที่ชอบลงไปเล่นน้ำตอนน้ำท่วม ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาก เพราะบางครั้งการลงไปเล่นน้ำ นอกจากร่างกายจะแช่น้ำเป็นเวลานานแล้ว น้ำอาจจะเข้าปากด้วย เสี่ยงต่อการเกิดโรคท้องเสียท้องร่วงตามมา  ผู้ปกครองจึงควรดูแลลูกหลานอย่าให้เล่นน้ำท่วมขังจะดีที่สุด

ทั้งนี้การเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่น้ำท่วม การอยู่ร่วมกันในปริมาณมากหรือแออัด มีโอกาสที่จะติดเชื้อจากโรคติดต่อ โรคทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน รวมทั้งทางศูนย์เองก็ควรแยกผู้ป่วยออกจากคนปกติ เพื่อไม่ให้ติดต่อโรคกัน ที่สำคัญสำหรับทุกคนที่ประสบภัย คือควรรับประทานอาหารปรุงสุกอยู่เสมอ

หลังน้ำลดแล้วย่าเพิ่งไว้วางใจ

เพราะอาจมีสัตว์ร้ายแอบอยู่ซึ่งมากับน้ำท่วม เช่น ตะขาบ รวมไปถึงเชื้อราบนพื้น จึงยังไม่ควรใช้ผิวหนังสัมผัสโดยตรง ตรวจสอบความเรียบร้อยภายในบ้าน อย่างภาชนะที่อาจมีน้ำขัง ก็ทำให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงได้ สุดท้ายเอาข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ออกมาตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรค และเปิดหน้าต่างบ้านให้อากาศถ่ายเท ให้แดดเข้าถึง ก็ช่วยให้ปลอดภัยจาก โรคในช่วงน้ำท่วม ไปได้อีกขั้น