นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งมีน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 17 ก.ย.67 มีมติแต่งตั้งนายวีริศ อัมระปาล ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คนใหม่ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยหลังจากนี้จะลงนามสัญญาว่าจ้างระหว่าง รฟท. และนายวีริศ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดยตนจะไปมอบนโยบายที่ รฟท. ช่วงต้นเดือนต.ค.67 ซึ่งผู้ว่า รฟท. คนใหม่ต้องผลักดัน และพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางของไทยให้เติบโตต่อเนื่อง และขยายขีดความสามารถในการขนส่งทางรางให้ทัดเทียมนานาประเทศ ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรางในภูมิภาคอาเซียน และเอเชีย โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน และประเทศเป็นสำคัญ

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการสำคัญที่ผู้ว่า รฟท. คนใหม่ ต้องเร่งดำเนินการให้สำเร็จเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟทางคู่ ระยะ(เฟส)ที่ 1 ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 4 โครงการให้แล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้ตามแผนงาน 2.โครงการรถไฟทางคู่ เฟสที่ 2 จำนวน 6 เส้นทาง ต้องเร่งผลักดัน เพื่อนำเสนอให้ ครม. พิจารณาโดยเร็ว3.โครงการรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด)ไทย-จีน เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ต้องเร่งแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อดำเนินการให้แล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้ตามแผนงาน 4.โครงการรถไฟไฮสปีดไทย-จีน เฟสที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเสนอ ครม. เห็นชอบได้ภายในปี 67 และสามารถเปิดประกวดราคางานโยธาได้ในช่วงต้นปี 68 ส่วนงานเดินรถ คาดว่าจะดำเนินการในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(PPP) ซึ่ง รฟท. ต้องเร่งดำเนินการศึกษารายละเอียด

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) คนใหม่

5.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) 6.โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง(รถไฟฟ้าสายสีแดง) ส่วนต่อขยาย 7.ปรับปรุงขบวนรถไฟชั้น 3 (รถพัดลม) ให้เป็นขบวนรถปรับอากาศ (รถแอร์) 8.จัดหาขบวนรถโดยสารใหม่ เพื่อยกระดับการให้บริการแก่ประชาชน โดยการปรับปรุงเป็นขบวนรถแอร์ อาจต้องมีการปรับขึ้นค่าโดยสาร แต่จะปรับขึ้นในอัตราเท่าใด อย่างไร รฟท.ต้องไปพิจารณา แต่จะไม่กระทบต่อกลุ่มเปราะบางและกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพราะใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ และ 9.แก้ไขปัญหาหนี้สะสมที่ปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึงกว่า 2.3 แสนล้านบาท ซึ่งต้องลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ทั้งจากการขนส่งผู้โดยสาร การขนส่งสินค้า และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์

ทั้งนี้ในส่วนของการจัดหาขบวนรถโดยสารใหม่ จากการสอบถามความคืบหน้าเรื่องนี้เบื้องต้นทราบว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้ให้ รฟท. จัดทำข้อมูลเพิ่มเติม โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนและความคุ้มค่า ซึ่งแผนและข้อมูลโครงการจัดหารถโดยสารดีเซลรางปรับอากาศ 184 คันที่ รฟท. นำเสนอในช่วงที่ผ่านมายังไม่มีความชัดเจน และไม่สมบูรณ์ ดังนั้นผู้ว่า รฟท. คนใหม่ต้องเร่งเข้าไปดูว่าติดขัด และมีประเด็นตรงไหนบ้างที่ต้องเพิ่มเติม เพื่อจะได้ชี้แจงสภาพัฒน์ และเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไปได้.