ปัญหาสุขภาพนี่ละเลยไม่ได้จริงๆ โดยเฉพาะคนที่เริ่มมีอายุมากขึ้น “ลุกก็โอย นั่งก็โอย” ที่มาที่ไปสำคัญคือเรื่องของ “กระดูก” ซึ่งทางรศ. นพ.สรวุฒิ ธรรรมยงค์กิจ ศัลยกรรมกระดูกและข้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดิบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลไว้ใน “RAMA Chanel” ถึง “โรคกระดูกพรุน”

ทั้งนี้ กระดูกพรุน เกิดจากความหนาแน่นของกระดูกบริเวณกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก หรือข้อมือน้อยกว่า -2.5 เนื่องจากมีการสูญเสียมวลกระดูก ทำให้กระดูกบาง ทรุด หรือแตกหักได้ง่าย โดยอาการของโรคที่พบคือ ปวดหลังเรื้อรัง หลังค่อม ความสูงลดลง กระดูกแตกหักง่าย

ส่วนปัจจัยเสี่ยง คือ อายุเพิ่มมากขึ้น พันธุกรรม การใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น ยาสเตียรอยด์ ผู้ที่เคยกระดูกหักง่ายมาก่อน ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่เป็นประจำ กินอาหารไม่ครบ 5 หมู่ ขาดการออกกำลังกายและรับแสงแดด

สำหรับ วิธีป้องกัน คือ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายที่ช่วยเสริมสร้างกระดูก เช่น การเดิน การยกน้ำหนัก หรือการออกกำลังกายที่เน้นการรับน้ำหนัก ตรวจสุขภาพประจำปี งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่

ส่วนคนที่เริ่มมีภาวะโรคกระดูกพรุนแล้ว จะมีวิธีรักษา คือ ลดปัจจัยเสี่ยงที่คุมได้ เช่น ออกกำลังให้สมวัย ป้องกันการหกล้มจากอุบัติเหตุ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่มีแคลเชียมสูง เช่น นม ปลาตัวเล็ก และวิตามินดีสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาทู ไข่ต้ม ชีส รับแสงแดดอ่อน ๆ ช่วงเช้าหรือเย็นเพราะ วิตามินดีช่วยในการดูดซึมแคลเซียมได้ หรือมากกว่านั้น คือ รักษาด้วยยา เช่น ยาต้านการสลายกระดูก ยากระตุ้นการสร้างกระดูก