นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปี 67 เป็นต้นมา กรมการค้าต่างประเทศได้รับรายงานปัญหาอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับผู้ประกอบการนำเข้าเศษกระดาษเพื่อนำมารีไซเคิล ได้มีการนำของเสียและวัสดุอื่นเจือปนเข้ามาในประเทศจำนวนมาก เช่น ของใช้แล้ว อย่างขวดพลาสติก โฟม ถุงพลาสติก กระป๋องน้ำอัดลม ผ้าอ้อมสำเร็จรูป หน้ากากอนามัย ถุงน้ำยาทางการแพทย์ สายยางทางการแพทย์ ฯลฯ ซึ่งจัดว่าเป็นขยะอันตรายและแสดงให้เห็นว่าเศษกระดาษที่สั่งซื้อเข้ามา ไม่ได้รับการคัดแยกประเภท และไม่ได้เกณฑ์มาตรฐานสิ่งเจือปนที่ยอมรับได้จากประเทศต้นทาง

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมฯได้อนุญาตให้นำเข้าเศษกระดาษ เพื่อนำมารีไซเคิลสำหรับผลิตเป็นกระดาษและบรรจุภัณฑ์เท่านั้น ส่วนของเสียและวัสดุอื่นเจือปน จะเข้าข่ายเป็นขยะเทศบาล ซึ่งเป็นสินค้าห้ามนำเข้าตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะเทศบาลเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้าและห้ามนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. 2562  ดังนั้น การนำเข้าเศษกระดาษที่ปะปนขยะดังกล่าว ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จึงขอให้ผู้นำเข้าเพิ่มความระมัดระวัง และให้ความสำคัญกับการคัดเลือกตัวแทนผู้จำหน่ายสินค้า เพื่อจะได้ไม่นำขยะจากต่างประเทศเข้ามาในไทย ที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชน

นายรณรงค์กล่าวว่า หากยังพบว่ามีการนำเข้าเศษกระดาษโดยมีของเสียและวัสดุอื่นๆ ที่เป็นอันตรายเจือปน กระทรวงพาณิชย์ โดยกรม จำเป็นต้องกำหนดมาตรการที่เข้มงวด เช่น ห้ามนำเข้าเศษกระดาษ หรือกำหนดมาตรการใบอนุญาตนำเข้าเศษกระดาษที่ต้องกลั่นกรองอย่างเข้มงวดเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป

ทั้งนี้ กรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังเฝ้าติดตามการนำเข้าดังกล่าว และเตรียมยกระดับความเข้มข้นของมาตรการกำกับดูแลการนำเข้าสินค้าเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะหากปล่อยให้นำเข้าขยะโดยไม่มีการกำจัดและบริหารจัดการที่ดี จะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การบำบัดและฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อม ก็ต้องใช้ระยะเวลานานและยังส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนโดยตรงอีกด้วย  

“ที่ผ่านมา กรมตรวจสอบพบการนำเข้าเศษกระดาษที่เจือปนของเสียหรือวัสดุอื่นๆ ซึ่งมีวัสดุที่เข้าข่ายเป็นขยะอันตราย และของเสียทางการแพทย์ มาเป็นระยะ ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและได้ความเสียหายต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาก รวมทั้งส่งผลเสีย ต่อสุขภาพประชาชนโดยตรง ซึ่งผู้ประกอบการมีข้อสอบถามเพิ่มเติม หรือพบเห็นการกระทำดังกล่าว โทรสอบถามหรือแจ้งได้ที่สายด่วนกรม โทร 1385”