นายดนัย เรืองสอน รักษาการอธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า ทย. ร่วมกับ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดให้บริการรถโดยสารสาธารณะภายในสนามบิน เพื่อพัฒนารูปแบบของระบบขนส่งสาธารณะทั้งขาไป-ขากลับ ระหว่างสนามบินและสถานีขนส่งผู้โดยสาร เป็นการยกระดับคุณภาพการให้บริการขนส่งภาคพื้นของสนามบินเมืองรอง เพิ่มทางเลือกการเดินทางเชื่อมต่อไปยังระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ เกิดประโยชน์สูงสุดในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม เพื่อรองรับการเติบโตของการท่องเที่ยวในอนาคต โดยเฉพาะในเมืองรอง ได้นำร่องที่ท่าอากาศยานอุบลราชธานี และท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี

นายดนัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณาแนวทางจัดระบบการจราจร การเชื่อมต่อเส้นทาง และระบบขนส่งสาธารณะที่ช่วยส่งเสริมการเดินทางเชื่อมต่อ เพื่อพัฒนาเป็นต้นแบบการท่องเที่ยวเมืองรอง รวมทั้งร่วมกับกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ตรวจสอบสภาพถนนในการเดินทางเข้าสนามบินไปยังศูนย์กลางเมือง และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์อยู่เสมอ ขณะเดียวกันได้หารือร่วมกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินในภาพรวมให้เกิดอุปสงค์ด้านการเดินทางเชื่อมต่อกับเส้นทางการบินหลัก และเส้นทางเมืองรองอื่นๆ อย่างยั่งยืน

นายดนัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันท่าอากาศยานอุบลราชธานี มีระบบขนส่งสาธารณะให้บริการ 3 ประเภท ได้แก่ รถเช่า มีผู้ประกอบการ 7 ราย จุดจอดรถอยู่บริเวณอาคารศูนย์ขนส่งสาธารณะ ให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00 น. ถึงเวลาเที่ยวบินสุดท้าย อัตราค่าโดยสารเป็นไปตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนด รถ Taxi Meter มีผู้ประกอบการ 4 ราย จุดจอดรถอยู่บริเวณหน้าอาคารศูนย์ขนส่งสาธารณะ ให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00 น. ถึงเวลาเที่ยวบินสุดท้าย อัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 40 บาท และรถโดยสารประจำทาง ซิตี้บัส เส้นทางสนามบิน-สถานีขนส่งผู้โดยสารอุบลราชธานี-ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล จุดจอดรถอยู่บริเวณด้านหน้าอาคารผู้โดยสาร ให้บริการเวลา 06.00-18.00 น. อัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย

พร้อมทั้งดำเนินมาตรการจัดการจราจรภายในสนามบินให้มีความคล่องตัว ได้แก่ การจอดรับไม่จอดรอ ห้ามจอดรถหน้าอาคาร ยกเว้นจอดชั่วคราวเพื่อรับ-ส่งได้ไม่เกิน 3-5 นาที ขอความร่วมมือห้ามจอดรถจักรยานยนต์บริเวณถนนหน้าอาคาร และสุ่มตรวจใต้ท้องรถที่เข้ามารับ-ส่ง บริเวณหน้าชานชาลา เพื่อให้การรักษาความปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐาน สำหรับท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี มีระบบขนส่งสาธารณะให้บริการบริเวณลานจอดรถหน้าอาคารที่พักผู้โดยสาร คือ รถเช่า มีผู้ประกอบการ 7 ราย รถเช่าพร้อมคนขับ มีผู้ประกอบการ 1 ราย

และรถโดยสารสาธารณะ เส้นทางสนามบิน-อำเภอเมือง อัตราค่าโดยสาร 100 บาท และเส้นทางสนามบิน-ท่าเรือเฟอร์รี่ อ.ดอนสัก อัตราค่าโดยสาร 300 บาท ด้านการจัดการจราจรภายในสนามบินมีบริการลานจอดรถยนต์บริเวณหน้าอาคารที่พักผู้โดยสาร ชั้น 1 ค่าบริการ ไม่เกิน 30 นาทีจอดฟรี จอด 30 นาทีขึ้นไป ชั่วโมงละ 15 บาท และจอด 7 ชั่วโมงขึ้นไป ถึง 24 ชั่วโมง 180 บาท ส่วนบริเวณชานชาลาหน้าอาคารที่พักผู้โดยสาร ชั้น 2 สามารถจอดรับ-ส่งได้ไม่เกิน 20 นาที

นายดนัย กล่าวด้วยว่า ท่าอากาศยานอุบลราชธานี และท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี มีศักยภาพ และความพร้อมในการรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบิน โดย ทย. จะพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการต่อยอดในการเชื่อมต่อการเดินทางอย่างไร้รอยต่อ เพื่อพัฒนาท่าอากาศยานเมืองรองทั่วประเทศ ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นอุตสาหกรรมสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับประเทศสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงคมนาคมในการส่งเสริมการท่องเที่ยวสู่เมืองรองอย่างยั่งยืนต่อไป.