สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ว่า ซูเปอร์บั๊ก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ของแบคทีเรียหรือเชื้อโรคที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ ทำให้การรักษาผู้ป่วยยากลำบากขึ้น และได้รับการยอมรับว่าเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของคนทั่วโลก

ตามงานศึกษาในวารสาร The Lancet การวิเคราะห์ดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการวิจัยครั้งแรกที่ติดตามผลกระทบระดับโลกของเชื้อดื้อยา ในช่วงเวลาต่าง ๆ และประเมินสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป ระบุว่า ผู้คนทั่วโลกเสียชีวิตจากซูเปอร์บั๊ก มากกว่า 1 ล้านคนต่อปี ระหว่างปี 2533-2564 

แม้การเสียชีวิตในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ลดลงมากกว่า 50% ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการปรับปรุงมาตรการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในทารก แต่ในตอนนี้ การรักษาเด็กที่ติดเชื้อดื้อยา เป็นเรื่องที่ทำได้ยากขึ้นอย่างมาก

ขณะเดียวกัน การเสียชีวิตจากการติดเชื้อซูเปอร์บั๊ก ในกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปี เพิ่มขึ้นมากกว่า 80% ในช่วงเวลาเดียวกัน เนื่องจากประชากรสูงวัย มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ

ทั้งนี้ นักวิจัยใช้แบบจำลองเพื่อประมาณการว่า จากแนวโน้มในปัจจุบัน จำนวนผู้เสียชีวิตโดยตรงจากเชื้อดื้อยา จะเพิ่มขึ้น 67% เป็นเกือบ 2 ล้านรายต่อปี ภายในปี 2593 อีกทั้งซูเปอร์บั๊ก ยังส่งผลต่อการเสียชีวิตอีก 8.2 ล้านรายต่อปี ซึ่งพุ่งสูงเกือบ 75% ด้วย

อย่างไรก็ตาม แบบจำลองชี้ให้เห็นว่า การดำเนินการปรับปรุงการรักษาการติดเชื้อรุนแรง และการเข้าถึงยาต้านจุลชีพ สามารถช่วยชีวิตผู้คนประมาณ 92 ล้านคน ภายในปี 2593 ได้

“ผลการศึกษาเหล่านี้เน้นย้ำว่า เชื้อดื้อยาเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ มานานหลายทศวรรษแล้ว และภัยคุกคามนี้กำลังรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายโมห์เซน นากาวี ผู้เขียนร่วมของงานศึกษา จากสถาบันชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพ (ไอเอชเอ็มอี) ในสหรัฐ กล่าวในแถลงการณ์.

เครดิตภาพ : AFP