เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 961/256๓ หมายเลขแดงที่ 2042/2567 ระหว่างบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ฟ้องคดี กับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้ถูกฟ้องคดี  โดยศาลพิเคราะห์ข้อกำหนดในเอกสารประกาศประกวดราคาจ้างก่อสร้างและข้อตกลงในสัญญาพิพาทแล้ว เห็นว่า ทั้งผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีต่างรับรู้และตระหนักถึงปัญหาเรื่องการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างที่อาจไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ในเบื้องต้น โดยเห็นได้จากในข้อ 1 วรรคสอง ของสัญญาพิพาท ตกลงกันว่า ในการดำเนินการตามสัญญานี้ ผู้ว่าจ้างจะส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องหรือตามความพร้อมของผู้ว่าจ้าง และในกรณีที่มีการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ผู้รับจ้างไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากผู้ว่าจ้างได้ หรือหากผู้ว่าจ้างไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่จากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและผู้รับจ้างไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากผู้ว่าจ้างได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องแก่ผู้ฟ้องคดีได้ตามที่กำหนดไว้ หรือในกรณีที่ผู้รับจ้างรายอื่นๆ ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่หรือผลงานที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับงานของผู้รับจ้างได้ตามที่ตกลงกันไว้ ผู้ถูกฟ้องคดีมีหน้าที่ต้องพิจารณาขยายระยะเวลาของงานส่วนที่ต้องล่าช้าออกไปอันมีผลกระทบมาจากกรณีดังกล่าวเหล่านั้นให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามความเหมาะสม แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่มีหน้าที่ชดเชยค่าใช้จ่ายใดๆ ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิ้น

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้แก่ผู้ฟ้องคดีไม่เป็นไปตามแผนการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างกำหนดไว้เบื้องต้น และผู้ฟ้องคดีประสบปัญหาอุปสรรคความล่าช้าในการขนดินออกจากพื้นที่ก่อสร้างเนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีไม่สามารถจัดหาที่พักดินให้ได้ตามสัญญาทำให้มีผลกระทบต่องานก่อสร้างฐานและอาคารชั้นใต้ดิน อันเป็นเหตุให้การดำเนินงานก่อสร้างของผู้ฟ้องคดีมีความล่าช้า ซึ่งเหตุดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ว่าจ้างไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องแก่ผู้รับจ้างตามกำหนดไว้ และปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากการหาสถานที่ทิ้งดินรวมถึงการที่ผู้รับซื้อดินที่ผู้ถูกฟ้องคดีจัดหามาไม่สามารถขนย้ายดินออกจากโครงการได้ทัน เป็นกรณีที่ผู้รับจ้างรายอื่น ๆ ไม่สามารถส่งมอบผลงานที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับงานของผู้รับจ้างได้ตามที่ตกลงกันไว้ ตามนัยข้อ 24.2 ของสัญญาพิพาท ที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิได้รับการพิจารณาขยายเวลาก่อสร้างออกไปและผู้ถูกฟ้องคดีมีหน้าที่ต้องพิจารณาขยายระยะเวลาของงานส่วนที่ต้องล่าช้าออกไปตามความเหมาะสม ซึ่งเมื่อผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือขอขยายเวลาก่อสร้างออกไปหลายครั้ง ผู้ถูกฟ้องคดีก็ได้ประชุมพิจารณาร่วมกับที่ปรึกษาบริหารโครงการ คณะกรรมการตรวจการจ้าง ผู้ควบคุมงาน ผู้ฟ้องคดี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วได้ขยายเวลาทำการก่อสร้างตามสัญญาออกไป 4 ครั้ง รวมเป็นเวลา 1,864 วัน กรณีจึงเห็นว่า ฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีได้ทำหน้าที่พิจารณาขยายระยะเวลาของงานส่วนที่ต้องล่าช้าออกไปให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามข้อตกลงในสัญญาแล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ จากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิ้น ทั้งนี้ ตามข้อ 1 วรรคสอง และข้อ 24.2 ของสัญญาพิพาท พิพากษายกฟ้อง.