เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 67 โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพฯนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ร่วมลงนามในบันทึกความตกลงความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพ เพื่อเวชศาสตร์ครอบครัวตอบสนองต่อระบบสุขภาพปฐมภูมิทั่วไทย (9 หมอ แผน 10 ปี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2568 – 2577) โดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนาม MOU และสักขีพยานในการลงนาม โดยมีผู้ร่วมลงนามประกอบด้วย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี  รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวง อว. ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ร่วมลงนาม

นายอนุทิน กล่าวว่า MOU ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการผลิตและการพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์ และทีมสหวิชาชีพ จัดการศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพ ทำการสอน การวิจัย การพัฒนานวัตกรรม การให้บริการวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และวางแผนและดำเนินงานภายใต้โครงการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพ เพื่อเวชศาสตร์ครอบครัวตอบสนองต่อระบบสุขภาพปฐมภูมิทั่วไทย รวมถึงร่วมพัฒนาหลักสูตรและผลิตแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรด้านการพยาบาล และการสาธารณสุข เพื่อรองรับการพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ รวมถึงการให้บริการทางวิชาการแก่สังคมโดยเน้นความร่วมมือกับชุมชนและการสร้างความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมด้านอื่น ๆ

นายอนุทิน กล่าวว่า ภายใต้กรอบความร่วมมือและแนวทางการดำเนินการ กระทรวงสาธารสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าภาพ ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยจะสนับสนุนในภารกิจต่าง ๆ อาทิ ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข วางแผนปฏิบัติงานในสถานบริการสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย และกำหนดแนวให้ทุนการศึกษาและการทำสัญญาชดใช้ทุน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุข

นายอนุทิน กล่าว การขับเคลื่อนการดำเนินงานของสถาบันพระบรมราชชนก มีส่วนสำคัญที่เชื่อมโยงกับภารกิจของกระทรวงมหาดไทย ในด้านการพัฒนาแพทย์ปฐมภูมิ เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสมเพื่อการรองรับการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) ไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ภายใต้การกระจายอำนาจ

สำหรับเป้าหมายการผลิตบุคลาการทางด้านการสาธารณสุข ในระยะเวลา 10 ปี (ปีการศึกษา 2568 – 2577) ของประเทศไทยนั้น มีจำนวนรวม 62,000 คน ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยสาธารณสุข ทันตแพทย์ เภสัชกร ฉุกเฉินการแพทย์ และแพทย์แผนไทย

“กระทรวงมหาดไทยยินดีที่จะให้ความร่วมมือในโครงการครั้งนี้ หรือ โครงการ 9 หมอ ซึ่ง MOU ร่วมกันจะเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนในการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 9 สาขาวิชาชีพ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน ผมในฐานะที่เป็นอดีต รมว.สาธารณสุขขอขอบคุณท่าน รัฐมนตรีฯ สาธารณสุข ที่กรุณาเพิ่มกำลัง 2 ของหมอ จากเดิม 3 หมอ เป็น 9 หมอ ผมต้องขอกราบขอบพระคุณท่านที่พิจารณาโครงการที่ดี ๆ เหล่านี้ ต่อยอดให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น” นายอนุทิน กล่าว.