เมื่อวันที่ 16 ก.ย. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้กับหน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในการกับกำดูแลของกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งติดตามความคืบหน้าโครงการสำคัญ โดยมีเป้าหมายให้การดำเนินการสำเร็จได้ตามแผนที่วางไว้ ภายใต้นโยบาย “คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย” ซึ่งหมายถึง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง และการพัฒนาการให้บริการตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างโอกาสและการเข้าถึง พร้อมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกมิติอย่างครอบคลุม ทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม มุ่งเน้นประชาชน และประเทศชาติเป็นสำคัญ

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า รวมทั้งผลักดันให้การคมนาคมของประเทศ เป็นไปด้วยความสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา และราคาสมเหตุสมผล สามารถลดต้นทุนโลจิสติก์ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศได้อย่างยั่งยืน ซึ่งนโยบายนี้ประกอบด้วย 9 แนวทาง ได้แก่ 1. สานต่อโอกาสในโครงการคมนาคม เร่งรัดโครงการลงทุนต่างๆ พร้อมสานต่อโครงการที่ดำเนินการมาแล้วต่อเนื่อง และเดินหน้าโครงการใหม่ๆ 2. ส่งเสริมโอกาสคมนาคมไทย เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อทั้งภายในประเทศ และสู่นานาประเทศทั่วโลก 3. สร้างโอกาสในการลงทุน ส่งเสริมให้เอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุนในโครงการต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อช่วยประหยัด และลดภาระด้านงบประมาณ 4. เพิ่มโอกาสประชาชนในการเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่ง

5. เปิดโอกาสโลจิสติกส์ไทย ในการเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนของระบบโลจิสติกส์ 6. สนับสนุนโอกาสในการใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 7. เปิดโอกาสด้านความปลอดภัยภาคคมนาคมขนส่งอย่างสูงสุด ทั้งในช่วงก่อสร้าง และระหว่างการให้บริการประชาชน 8. เพิ่มโอกาสในการปฏิบัติหน้าที่ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ระเบียบ กฎหมาย และหลักธรรมาภิบาล ที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และ 9. สร้างโอกาสการมีส่วนร่วมกับประชาชนในทุกมิติ

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการต่างๆ ที่จะดำเนินการภายใต้นโยบาย “คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย” อาทิ  ปิดตำนานถนน 7 ชั่วโคตร หรือถนนพระราม 2 ให้สำเร็จภายในเดือน มิ.ย.68, ให้กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) เร่งแก้ไขปัญหาประชาชนรอรถเมล์นานจากกรณีที่มีผู้ประกอบการรายเดียวในแต่ละเส้นทาง, ให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) จัดหารถพลังงานไฟฟ้ามาวิ่งให้บริการประชาชน, เร่งขยายผลนโยบายรถไฟฟ้าในอัตรา 20 บาทตลอดเส้นทาง (20 บาทตลอดสาย) ไปเส้นทางรถไฟฟ้าสายอื่นๆ, เดินหน้ารถไฟทางคู่, รถไฟความเร็วสูง ทั้ง 2 ระยะ,

พัฒนาระบบรถไฟฟ้าในภูมิภาค, พัฒนาท่าเรือ Cruise Terminal ที่เกาะสมุย ที่ฝั่งอันดามัน และที่อ่าวไทยตอนบนภายในต้นปี 68, ให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เร่งก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ให้เป็นไปตามแผนงาน และเร่งแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณโดยรอบท่าเรือแหลมฉบัง, เดินหน้าพิจารณาแนวทางการส่งเสริม และกำกับดูแลเครื่องบินน้ำ และสนามบินน้ำ ร่วมกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ให้สามารถเริ่มเปิดให้บริการได้โดยเร็ว, ให้ทุกหน่วยงานทางอากาศ ขับเคลื่อนนโยบายศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) ของรัฐบาล, เตรียมรับการตรวจจากองค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA) เพื่อให้ไทยกลับเข้าสู่ Category I

ตลอดจนเตรียมความพร้อมในการเข้าตรวจจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO), ให้ ทอท. เร่งดำเนินการก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยาย รวมทั้งพัฒนาท่าอากาศยานต่างๆ รวมถึงปรับปรุงความสะอาดของห้องน้ำภายในสนามบินทุกแห่งของประเทศไทย โดยเฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ(ทสภ.) เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับข้อร้องเรียนจำนวนมากจากผู้โดยสาร และประสบด้วยตัวเอง ถือเป็นงานเร่งด่วนมากๆ ที่ต้องแก้ไข ซึ่งได้ให้เร่งปรับปรุงนอกจากต้องสะอาดแล้ว กลิ่นต้องหอม และต้องมีห้องน้ำให้บริการเพียงพอด้วย โดยให้ไปดูศูนย์การค้า หรือโรงแรมที่ห้องน้ำมีความสะอาด และกลิ่นหอมมากว่าทำกันอย่างไร และนำมาปรับเพิ่มเติม เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งการจัดอันดับสนามบินที่ดีที่สุดในโลก ก็มีการให้คะแนนในประเด็นห้องน้ำด้วย ทั้งนี้ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 67.