เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารโครงการยุวชนอาสา ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการ “ตำรับไก่ทอดหาดใหญ่” ภายใต้โครงการยุวชนอาสา ประจำปี พ.ศ. 2567 ของมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ โดยมี ผศ.ดร.วิทวัส ดิษยะศริน สัตยารักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ น.ส.รมิตา ธุระบุตร์ รองนายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนสงขลา คณาจารย์ และนักศึกษา ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ จ.สงขลา

ผศ.ดร.วิทวัส กล่าวว่า โครงการ “ตำรับไก่ทอดหาดใหญ่” เป็นผลงานยุวชนอาสา ในการสร้างซิกเนเจอร์ให้กับอาหารท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักและเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของแบรนด์ไก่ทอดหาดใหญ่ผ่านเครือข่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีการพัฒนาต่อยอดไก่ทอดหาดใหญ่ให้ดูน่ารับประทานและดูพรีเมี่ยมมากขึ้น สามารถเชื่อมโยงสู่ชุมชนในพื้นที่ในการจัดจำหน่ายตำรับไก่ทอดหาดใหญ่ สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ของจังหวัดสงขลา และยังสามารถสร้างชื่อเสียงในระดับชุมชน ระดับจังหวัดและระดับประเทศได้ โครงการ “ตำรับไก่ทอดหาดใหญ่” มีจุดเริ่มต้นจากนักศึกษาจริงๆ อาจารย์เป็นเพียงผู้คอยแนะนำกลไกวิธีการ ทั้งนี้ขอขอบคุณสำนักงานปลัดกระทรวง อว. ที่มีโครงการประกวดการสร้างไอเดีย โดยใช้กลไกยุวชนอาสา ซึ่งเป็นการจุดประกายความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของนักศึกษาและผลักดันให้นักศึกษาได้ใช้ความพยายามในการไปเรียนรู้กระบวนการต่างๆ เพื่อให้เกิดกระบวนการคิดและลงมือจนเกิดผลเป็นรูปธรรม

ด้าน ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า โครงการ “ตำรับไก่ทอดหาดใหญ่” แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาอาหารพื้นถิ่นให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น มีการประสานการทำงานกับหลายภาคส่วนทั้งหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน ผู้ประกอบการและผู้บริโภค สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือ ทำให้ “ไก่ทอดหาดใหญ่” แม้จะเป็นอาหารท้องถิ่นแต่สามารถสร้างความโดดเด่นในการสร้างรายได้ให้ทั่วทั้งประเทศ และเป็นที่น่ายินดีที่ได้ทราบว่าทีมผู้จัดทำเตรียมร่วมมือกับทาง จ.สงขลา ผลักดันให้ตำหรับข้าวเหนียวไก่ทอดเป็นเมนูประจำการแข่งขันในมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 9-20 ธันวาคม ปี 2568 ที่ จ.สงขลา เป็นเจ้าภาพร่วม

“ผมขอชื่นชมการทำงานของอาจารย์และนักศึกษา ที่พยายามทำงานกันอย่างหนัก รวมถึงชุมชนที่เข้ามามีส่วนร่วมทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ อยากเสนอแนะให้มีการดำเนินการเกี่ยวกับสัญลักษณ์ฮาลาล เพื่อยกระดับให้ไก่ทอดหาดใหญ่สามารถขยายพื้นที่การจำหน่ายไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยที่ยังคงความมั่นใจ ในสินค้าของผู้บริโภคชาวมุสลิม และอยากให้มหาวิทยาลัยหาดใหญ่เปิดสอนหลักสูตร Reskill Upskill การทำไก่ทอดหาดใหญ่ระยะสั้นแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ด้วย” ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าว

ขณะที่ น.ส.นิสากร จึงเจริญธรรม กรรมการบริหารโครงการยุวชนอาสา กล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นกับโครงการนี้มาก เพราะทำให้เห็นถึงรูปแบบวิธีการดำเนินงานที่มีความหลากหลาย และความพยายามของทีมงานที่จะพัฒนาไก่ทอดหาดใหญ่ ที่นอกจากจะขายได้แล้ว ยังคำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภคด้วย แต่ด้วยเอกลักษณ์ของไก่ทอดหาดใหญ่ “หอมเจียว” เป็นตัวชูรสชาติอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ อาจจะต้องเน้นในส่วนนี้เพิ่มเติม เพื่อคงเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ดั้งเดิมไว้ ถ้าใครได้ชิม ต้องรู้เลยว่านี่คือไก่ทอดหาดใหญ่อย่างแน่นอน และต้องไม่ลืม “มาตรฐานอาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste)” ที่ผู้ประกอบการทุกคนจะต้องนำไปปฏิบัติ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ผู้บริโภค สร้างโอกาสในการจำหน่าย และเพิ่มรายได้เข้าสู่ชุมชนต่อไปด้วย