สศท. เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงพาณิชย์ ที่มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนงานศิลปหัตถกรรมไทยในทุกมิติอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย ด้วยการพัฒนาต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมไทยให้มีมูลค่าเพิ่ม ผลักดันให้มรดกทางภูมิปัญญามีการปรับประยุกต์ให้มีความร่วมสมัย และสามารถใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน และเป็นที่ยอมรับในตลาดทั้งในและต่างประเทศ อย่างเช่น ชุมชนผ้าทอกะเหรี่ยงบ้านหล่ายแก้ว จากจังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการงานหัตถกรรมที่ตอบโจทย์เทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อม ควบคู่การสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนเสน่ห์ของความงดงามของผ้าทอกลุ่มชาติพันธุ์กระเหรี่ยง โดยคนรุ่นใหม่อย่างคุณจิตต์ปภัสร์ ปู่เป็ด หรือ จ๊ะจ๋า หนึ่งในสมาชิก ของ สศท.

คุณจิตต์ปภัสร์ฯ กล่าวว่า ด้วยความที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่สานต่อผลงานผ้าทอกะเหรี่ยงอัตลักษณ์แห่งชาติพันธุ์จากคุณพ่อ เพราะเล็งเห็นถึงคุณค่าของผ้าที่บรรพบุรุษถักทอ แต่ต้องการสร้างมุมมองใหม่ให้กับงานผ้าทอกะเหรี่ยงมีความแตกต่างไปจากเดิม จึงได้ปรับประยุกต์รูปแบบ ดีไซน์ ให้เกิดเป็นผลงานที่มีความโดดเด่น สะดุดตา ไม่ทิ้งรากของวิถีภูมิปัญญาดั้งเดิม ทั้งยังมีกรรมวิธีทำมือตามเอกลักษณ์แห่งชาติพันธุ์ทุกขั้นตอนตั้งแต่ปลูกฝ้าย อีดฝ้าย เอาเมล็ดออก ตีให้ฟู ปั่นเป็นเส้นด้าย ตลอดจนกรรมวิธีการทอที่ยังคงสร้างสรรค์ผืนผ้าด้วยการใช้กี่เอว และยังนำเอาภูมิปัญญาการย้อมสีธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ด้วยวัตถุดิบจากท้องถิ่นมาปรับประยุกต์แปลงโฉมให้ผืนผ้ามีสีสันพาสเทล อ่อนหวาน เช่น สีเหลืองได้จากใบมะม่วง สีน้ำตาลจากเปลือกไม้ประดู่ สีเทาจากมะเกลือ สีฟ้าจากครามหรือฮ่อม สีชมพูมาจากรากไม้สล้าง ซึ่งเป็นรากไม้ที่มีสีเหลือง แต่ย้อมออกมาได้สีชมพู ซึ่งมีเฉพาะที่ดอยเต่าเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีการสร้างสรรค์ลวดลายบนผืนผ้า โดยใช้วิธีการ “จกลาย” ตามแบบฉบับของบ้านหล่ายแก้ว โดยจะไม่ใช้การปัก แต่ใช้นิ้วจกไปทีละเส้น ดังนั้น กว่าจะออกมาเป็นลวดลายน่ารัก ๆ ที่แต่งแต้มบนเสื้อผ้านั้น ต้องผ่านกรรมวิธีที่อาศัยความประณีต อดทน รวมทั้งการมีทักษะเชิงช่างที่ชำนาญ จนออกมาเป็นผ้าทอชาติพันธุ์กระเหรี่ยงที่มีความร่วมสมัย ใครใส่ก็ดูน่ารักสดใส อีกทั้งยังดีต่อใจ เพราะเป็นกรรมวิธีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย