เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ทำเนียบ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงไทม์ไลน์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลัง ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การออกเสียงประชามติ พ.ศ. ..ผ่านการพิจารณาของสภาฯ ว่า ต้องรอกฎหมายดังกล่าววุฒิสภาจะแก้ไขหรือไม่ หากมีการแก้ไขต้องกลับมาที่สภาฯ เพื่อมาหารือว่าจะแก้ไขตามที่วุฒิสภาฯแก้ไขหรือไม่ แต่ส.ส.ก็ยืนยันว่า การใช่เสียงข้างมากธรรมดาเป็นสิ่งที่ดีกว่า และเป็นหลักสากล

นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้สมมุติว่าหากร่างกฎหมายดังกล่าว มีผลบังคับใช้ ขั้นตอนที่1 ทำประชามติสอบถามประชาชนตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หากเห็นชอบจะไปสู่ขั้นตอนที่ 2 คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) โดยต้องทำประชามติครั้งที่ 2 หากประชาชนเห็นชอบสสร.ก็จะยกร่างรัฐธรรมนูญจนให้แล้วเสร็จ จากนั้นก็จะทำประชามติครั้งที่ 3 ซึ่งกระบวนการการแก้ไขรัฐธรรมนูญคาดว่าจะใช้เวลาพอสมควร

เมื่อถามว่าพรรคประชาชน ยังติดใจคำถามประชามติครั้งแรกห้ามแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เคยเป็นมติครม.ตั้งรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ดังนั้นรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร นี้ก็ต้องยืนตามนี้ อย่างไรก็ตามจะมีเรื่องการแก้ไขหมาด1 หรือ หมวด 2 หรือไม่นั้น ท้ายสุดเมื่อแก้ไขมาตรา 256 ก็ต้องเขียนระบุไว้อยู่แล้ว

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ตนได้รับการประสานกับพรรคประชาชน เขามีความคิด ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยเฉพาะมาตราฐานจริยธรรม และ เรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ที่เป็นปัญหาอยู่ขณะนี้ โดยจะเป็นการแก้ไขถ้อยคำให้รัดกุม ไม่ให้เกิดการตีความที่กว้างขวาง ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ประสานกับพรรคร่วมรัฐบาลไปพอสมควรแล้ว ซึ่งทุกพรรคการเมืองในสภาฯ จะเป็นเจ้าภาพร่วมกัน

เมื่อถามว่ากรอบเวลาในการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา จะเป็นอย่างไร นายชูศักดิ์ กล่าวว่า อยากจะทำให้เร็ว เแต่เราต้องถาประชามติไป เพราะเป็นการแก้ไขเรื่องคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยจะทำไปพร้อมกับการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งคาดว่าทำในช่วงเดียวกับการเลือกตั้งอบจ. ในต้นปีหน้าหรือ 2568 เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ โดยเรื่องการแก้ไขรายมาตราประเด็นจะทำประชามติเพียงครั้งเดียว