กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ รับปัญหาก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร ที่ จ.กาฬสินธุ์ เป็นคดีพิเศษ เดินหน้าตรวจสอบกราวรูด 8 โครงการยักษ์ วงเงินกว่า 545 ล้านบาท ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ด้วยเหตุสงสัย กรณีการจัดซื้อจัดจ้างพฤติการณ์ส่อเป็นความผิดตามกฏหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยของรัฐ หลัง คณะกมธ.การศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาฯ ร้องขอให้ตรวจสอบ คาดรู้ผลเร็วๆนี้

คืบหน้าปัญหาก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร ที่จ.กาฬสินธุ์ ที่ส่อทุจริตอื้อฉาว 8 โครงการใหญ่ ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย มอบอำนาจให้ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นคู่สัญญาจัดซื้อจัดจ้าง ระหว่าง สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ กับ หจก.ประชาพัฒน์ และ หจก.เฮงนำกิจ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 เป็นต้นมา รวม 8 โครงการ ซึ่งโครงการทั้งหมดมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในพืนที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โครงการแรกเป็นโครงการใหญ่อยู่ในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ งบประมาณ 148 ล้านบาท จากนั้นอีก 7 โครงการ เป็นการสร้างแนวป้องกันตลิ่งหรือเรียกกันว่าเขื่อนป้องกันตลิ่ง ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองกาฬสินธุ์ อ.ฆ้องชัย และ อ.กมลาไสย การทำสัญญาที่ระยะเวลาไล่เลี่ยกัน พบว่า ทั้ง 8 โครงการ (545ล้านบาท)ไม่มีโครงการใดก่อสร้างแล้วเสร็จแม้แต่โครงการเดียว ขณะเดียวกันพฤติการณ์การก่อสร้างคู่สัญญาได้แอดวานซ์ 15% ไปทุกโครงการ รวมถึงมีการให้เบิกจ่ายค่างวดงานรวมไปกว่า 50% มีการคำนวนว่าคู่สัญญานี้ได้มีการอนุมัติให้เบิกจ่ายไปแล้วกว่า 250 ล้านบาท ปัญหาความล่าช้า การทิ้งงานของผู้รับเหมา ทำให้ เครือข่ายภาคประชาสังคม อาทิ เครือข่าย ปปท.จ.กาฬสินธุ์ เครือข่ายธรรมาภิบาลจังหวัดกาฬสินธุ์ และ ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบและความเดือดร้อน องค์กรภาคเอกชนออกมาเรียกร้อง จนมีการตรวจสอบ กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ประกาศยกเลิกงานทั้ง 8 โครงการ รวมถึงการติดตามรวบรวมหลักฐานเพื่อเรียกเงินคืนจาก ผู้รับจ้าง ทั้งหมด

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ทีมข่าวเฉพาะกิจเดลินิวส์ส่วนกลาง ยังเกาะติดปัญหาผลกระทบ “7 ชั่วโคตร” ที่จ.กาฬสินธุ์ ชาวบ้านในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ยังคงเฝ้าจับกลุ่มพูดคุยถึงกระบวนการทำงานของฝ่ายตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็น ปปท.-ปปช.-สตง.-ดีเอสไอ ที่มองว่ามีการขับเคลื่อนได้ช้า จะมีเพียงการติดตามตรวจสอบกันเองโดยเครือข่ายภาคประชาสังคมที่เป็นข้าราชการบำนาญในแต่ละองค์กร ที่ออกมาเป็นคลังสมองในการต่อสู้ ทั้งนี้ยังรวมไปถึงองค์กรเอกชน หอการค้าจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ออกมายอมรับว่าปัญหาการก่อสร้างที่ล่าช้าทำให้คนกาฬสินธุ์สูญเสียโอกาสที่เรียกร้องให้กรมโยธาธิการและผังเมือง เร่งจัดหาผู้รับจ้างรายใหม่เข้าก่อสร้าง พร้อมกับเรียกร้องเงินที่ผู้รับจ้างทิ้งงานไปคืนให้กับแผ่นดินด้วย

นายชาญยุทธ โคตะนนท์ ประธานเครือข่าย ปปท.จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เร็วๆ นี้ตนพึ่งไปรับรางวัลเครือข่ายพื้นที่สีขาวต้นแบบในการป้องกันและเฝ้าระวังการทุจริต ปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ภายใต้เครือข่าย ป.ป.ท. เฝ้าระวังการทุจริต จาก นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ได้พูดคุยเกี่ยวกับปัญหาก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร ที่พอสรุปได้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ที่คงจะต้องขึ้นอยู่กับกระบวนการตรวจสอบเอาผิด โดยเฉพาะองค์กรอิสระซึ่งในส่วนตนที่เป็นเครือข่ายนั้นก็ได้รายงานไปยัง ป.ป.ท.ขอนแก่น ไปแล้วทั้งหมด ที่ได้ส่งต่อไปยังหน่วยงานตรวจสอบที่เกี่ยวข้องแล้ว นับจากนี้ในฐานะเครือข่าย คนกาฬสินธุ์ ก็จะเกาะติดเก็บรายละเอียดความเคลื่อนไหวทั้งหมดที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรม ที่เชื่อว่าครั้งนี้การสอบสวนเอาผิดหรือการเรียกร้องค่าเสียหายคืนจากผู้รับจ้าง จะต้องปรากฏขึ้นจริง หากสิ่งที่ตรวจสอบให้ดีแล้วมีการบิดเบือนประเทศไทยก็คงจะอยู่ลำบาก จึงคาดหวังให้ความพยามของกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ถือว่าเป็นผู้เสียหายนั้นได้เรียกเงินที่เบิกจ่ายไปแล้วกว่า 250 ล้านบาท คืนให้กับแผ่นดิน ที่คงต้องอาศัยความรวดเร็วจาก กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ในการติดตามเอาเงินคืนในครั้งนี้ส่วนจะเป็นอย่างไรเครือข่ายจะเฝ้าติดตามและสอดส่องอย่างเต็มที่

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงในคณะกรรมาธิการการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร แจ้งว่า ก่อนหน้านั้นในคราวประชุมเมื่อวันที่ 4 กรกฏาคม 2567 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุม N 403 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ (ขณะนั้น) ปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคประชาชน ได้นำปัญหาการก่อสร้างโครงการพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ ทั้ง 8 โครงการหรือที่ชาวบ้านประนาฌว่าเป็นโครงการ 7 ชั่วโคตร ยกขึ้นพิจารณาเป็นประเด็นสำคัญ เพื่อติดตามปัญหาการบริหารงบประมาณกว่า 545 ล้านบาท ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เพราะการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จเกิดปัญหาการทิ้งงาน ที่ไปกระทบต่อความมั่นคง สวัสดิภาพของประชาชนชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยได้เชิญ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง , เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ , เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ,ประธานกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดกาฬสินธุ์ และ คณะกรรมาธิการการป้องกันและปรบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร และคณะ กมธ.ฯ โดยที่ประชุมมีมติทำหนังสือของคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมณ สภาผู้แทนราษฎร ด่วนที่สุด 0017/5414 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการจัดซื้อจัดจ้างก่อสร้างโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจังหวัดกาฬสินธุ์ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมสอบสวนคดีพิเศษ ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2567 กมธ.ฯได้รับหนังสือจาก อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ แจ้งว่าได้พิจารณาคำร้องของ คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมณ สภาผู้แทนราษฎร เห็นว่าพฤติการณ์ตามคำร้องอาจเป็นความผิดตามกฏหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นความผิดตามที่กำหนดไว้ในประกาศ กคพ.(ฉบับที่ 8) พ.ศ.2565 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 2 วรรคหนึ่ง(1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 บัญชีท้ายลำดับที่ 3 ซึ่งอยู่ในอำนาจห้าที่ของกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐที่จะพิจารณาดำเนินการ โดยได้ส่งเรื่องไปยังกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐเพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฏหมายต่อไป

แหล่งข่าวระบุว่า แนวทางการสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เริ่มต้นในการสอบสวนตั้งแต่ช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2567 หลังจากที่ส่งหนังสือไปยัง คณะกมธ.การศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทน โดยมีการประสานงานไปยัง ปปท.-ปปช.-สตง. เพื่อเป็นแนวทางในการตววจสอบที่จะดำเนินการตรวจสอบในทุกโครงการ เบื้องต้นเน้นไปในเรื่องของราคาการแข่งขันการได้มาของโครงการทั้งหมด 8 โครงการว่ามีการแข่งขันถูกต้องตามกฏหมายหรือระเบียบพัสดุหรือไม่ รวมไปถึงการสืบค้นความเกี่ยวพันกันระหว่าง 2 หจก.ขาใหญ่ ว่าเป็นเครือญาติหรือมีใครอยู่เบื้องหลังจากโครงการนี้หรือไม่ ที่จะมีการรายงานความคืบหน้าไปยัง กมธ.ติดตามงบประมาณฯ ต่อไป