“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า กรมศิลปากร ได้แจ้งการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ว่า สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) ในฐานะองค์กรที่ปรึกษาขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ขอเลื่อนจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อมาประเมินผลกระทบเบื้องต้นด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม(Heritage Impact Assessment : HIA) ของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เชื่อมโยงกับสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา จากเดิมวันที่ 19 ก.ย.67 เป็นประมาณปลายเดือน ต.ค.67

 สถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา อยู่ในสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กิโลเมตร(กม.) ในโครงการรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด) ระยะ(เฟส)ที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งปัจจุบันได้บริษัท บุญชัยพาณิชย์(1979) จำกัด เป็นผู้รับจ้าง แต่ยังไม่ลงนามก่อสร้าง เนื่องจากยังมีข้อห่วงใยว่าการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยู่ใกล้กับพื้นที่เกาะเมืองอยุธยา ที่เป็นพื้นที่มรดกโลก ล่าสุดนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม จะให้ รฟท. ลงนามสัญญากับผู้รับจ้างในเดือน ต.ค.67 ซึ่งบริษัท บุญชัยพาณิชย์ฯ ยังยืนราคาเดิม10,325 ล้านบาท

วันที่ 16 ก.ย.67 นายสุรพงษ์ พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม จะลงพื้นที่ติดตามการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน เฟสที่ 1 เพื่อเร่งรัดการก่อสร้างโดยเฉพาะในสัญญาที่มีความคืบหน้าการทำงานน้อยมากไม่ถึง 10% โดยจะออกเดินทางโดยรถไฟขบวน 211 กรุงเทพ(หัวลำโพง)-ตะพานหิน ไปยังสถานีชุมทางบ้านภาชี เพื่อรับฟังบรรยายสรุปการดำเนินโครงการฯ ในภาพรวม ตลอดจนปัญหา และอุปสรรคในการก่อสร้าง รวมถึงรายละเอียด และแผนการดำเนินงานในเฟสที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคายด้วย

 จากนั้นเดินทางโดยรถยนต์ไปยังสำนักงานสนามโครงการฯ เพื่อติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างสัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ซึ่งสัญญานี้มีระยะทาง 31.6 กม. ความคืบหน้าการก่อสร้างอยู่ที่ 6.43% ล่าช้าจากแผนงาน 88.81% นอกจากนี้จะติดตามงานของสัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง21.8 กม. คืบหน้า 0.79% ล่าช้า 91.60 % มีบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) เป็นผู้รับจ้างทั้ง 2 สัญญาด้วย เพื่อลงมาดูสภาพปัญหาที่แท้จริงว่าความล่าช้าที่เกิดขึ้นเกิดจากสาเหตุใด และจะได้ร่วมแก้ไขปัญหาให้คลี่คลายโดยเร็ว ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการในภาพรวมทั้งโครงการ

ภาพรวมการก่อสร้างโครงการฯ 14 สัญญา ระยะทาง 357 กม. วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท ที่เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 60 มีความคืบหน้า 35.74% ล่าช้า 31.04% ก่อสร้างเสร็จ 2 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา นอกจาก 2 สัญญาข้างต้นที่พบว่าการก่อสร้างคืบหน้าล่าช้ามากแล้ว ยังมีอีกหลายสัญญาที่การก่อสร้างมีความคืบหน้าน้อยมากเช่นกัน อาทิ สัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. คืบหน้า 0.63% ล่าช้า 4.27% และสัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.3 กม. คืบหน้า 10.35% ล่าข้า 40.25%

 ส่วนอีก 2 สัญญา อยู่ระหว่างรอลงนามสัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. รอการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เนื่องจากเป็นช่วงที่มีโครงสร้างทับซ้อนกัน คาดว่าจะจบภายในปี 67 และสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ซึ่งคาดว่าจะลงนามสัญญา 4-5 ได้ในเดือน ต.ค.67

ทั้งนี้นายสุรพงษ์จะพยายามเร่งรัดการก่อสร้าง เพื่อให้งานแล้วเสร็จตามแผนงานที่วางไว้ โดยยังคงเป้าหมายล่าสุดที่จะเปิดบริการรถไฟความเร็วสูงเฟสที่ 1 ได้ประมาณกลางปี 71 หลังจากปรับแผนจากเดิมที่จะเปิดบริการปี 66 และปรับแผนเปิดบริการมาเรื่อยๆ