เมื่อวันที่ 14 ก.ย.67 นาย​อนุทิน​ ชาญ​วี​รกูล​ ​รองนายก​รัฐมนตรี​และ​รมว.มหาดไทย​ พร้อมด้วยนายอรรษิษฐ์​ สัม​พัน​ธ​รัตน์​ อธิบดี​กรม​การปกครอง​ นายพรพจน์ เพ็ญพาส​ อธิบดีกรมที่ดิน​ และน.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล​ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์​น้ำและเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่จ.หนองคาย​ โดยเครื่องบินส่วนตัวไปยังท่าอากาศยานอุดรธานี​ 

โดยก่อนเดินทางลงพื้นที่​ นายอนุทิน​ เปิดเผยว่า​ สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดหนองคาย มีแริมาณน้ำสูง​ 1.40 เมตร​  และท่วมในพื้นที่​ 5 อำเภอ​ เกิดจากปริมาณน้ำโขงสูงขึ้นจากการไหลมาจากจ. เชียงราย และหากมีฝนมาเติม​ จะทำให้มีน้ำท่วมสูงขึ้นอีกประมาณ​ 20-30 เซนติเมตร​ ก็จะทำให้น้ำเอ่อล้นเข้าในพื้นที่ตัวเมือง โดยการลงพื้นที่ในวันนี้จะดูถึงแนวทางการป้องกันและเยียวยาประชาชน​ในพื้นที่ว่าจะสามารถทำได้อย่างไรบ้าง​ และถึงแม้ว่าประเทศจีนและลาวจะปล่อยน้ำจากเขื่อนลงแม่น้ำโขง​ แต่ความสามารถในการระบายน้ำจะสามารถระบายยังระบายได้ดี ไม่เหมือนแม่น้ำสายเล็ก ที่มักจะมีสิ่งกีดขวาง ติดเกาะติดแก่ง ติดถนน ติดสะพาน​  ทั้งนี้หากไม่มีการระบายน้ำจากจีนและลาว หรือพายุเข้ามาเติมปริมาณน้ำ ก็จะสามารถบริหารจัดการน้ำได้ไม่เกินความสามารถ

เมื่อถามถึง  การเตรียมแผนรับมือการอพยพ ประชาชนในพื้นที่​ หากเกิดสถานการณ์เช่นเดียวกับในพื้นที่จ.เชียงราย จะเป็นเช่นไรนั้น นายอนุทิน​  กล่าวว่า​ เรื่องทรัพยากรเครื่องมือ​ เครื่องจักร​  อุปกรณ์​ และอาหาร ไม่มีปัญหา​ เนื่องจากมีการเตรียมระดมไว้อยู่แล้ว และการจัดเตรียมสถานที่พักพิง​ ซึ่งอยู่ในแผนเผชิญเหตุของผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด​ โดยมีการเตรียมแผนอพยพ ประชาชน และประชาสัมพันธ์ให้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมามีการประชาสัมพันธ์​ แต่ไม่ได้ติดตาม ตรวจสอบแต่ละบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะให้ประชาชนออกจากบ้านเรือน เนื่องจากมีทรัพย์สินอยู่ในบ้าน ซึ่งถ้าไม่ถึงอยู่ในจุดที่ประชาชนอยู่ไม่ได้จริงๆจึงจะออกมา ตรงนี้ต้องจัดหาสถานอพยพที่อยู่ใกล้บ้านหรือสามารถมาดูแลบ้านได้ และที่สำคัญผู้ว่าราชการจังหวัด​ นายอำเภอ​ และอาสาสมัคร ต้องจัดเวรยามดูแลทรัพย์สินเพื่อให้ประชาชนนั้นมั่นใจ

เมื่อถามว่า ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.เชียงราย จะทำให้ง่ายต่อการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้นหรือไม่​ นายอนุทิน กล่าวว่า  อย่าไปบอกว่าง่าย ไม่มีอะไรง่าย แต่จะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีเหตุผลในการทำความเข้าใจกับประชาชน สิ่งที่สำคัญที่สุดของต้องรักษาชีวิตของประชาชนก่อน ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจประชาชน ไม่ต้องการรักษาทรัพย์สิน เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องทำให้เกิดความปลอดภัยในทรัพย์สินของประชาชนที่ได้มากที่สุด เจ้าหน้าที่บ้านเมืองต้องเข้มงวดกวดขัน

“ขอยืนยันว่า​ ทุกพื้นที่จังหวัดมีการเตรียมพร้อมรับมือเป็นอย่างดี รวมถึงการระดมความช่วยเหลือก็มีความพร้อมเช่นกัน แต่สิ่งที่กังวลปัจจุบันคือปริมาณน้ำ”นายอนุทิน​  กล่าว

เมื่อถามถึง มาตราการ ในส่วนของการเยียวยาประชาชน หลังสถานการณ์น้ำเข้าสู่ปกติ เมื่อเทียบกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันซึ่งน้อยมาก เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการแก้ไขระเบียบให้เหมาะสม นายอนุทิน​ กล่าวว่า คำว่า “เยียวยา” มันบอกอยู่ในตัวอยู่แล้ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน  ไม่ใช่การชดใช้ และเชื่อว่าจากการที่ น.ส.แพทองธาร​ ชินวัตรนายกรัฐมนตรี  ลงพื้นที่ จ.เชียงราย​ เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ก็ได้เร่งอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือทันที ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่​ และ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย จังหวัดละ 100 ล้านบาท​ และยังมีการสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น  กระทรวงการคลังไปดูว่าควรแนวทางการเยียวยา บ้านเรือนประชาชนที่เสียหายควรออกมาในรูปแบบใด​ โดยขอให้ไปหารือกับสำนักงบประมาณ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ​ เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนให้น้อยที่สุด

นายอนุทิน​ กล่าวยืนยันว่า​ กระทรวงมหาดไทย ให้ความมั่นใจกับประชาชน เพราะเมื่อมีการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ผู้ว่าราชการจังหวัด จะมีงบทดลองจ่าย​ เพื่อใช้ในการดูแลช่วยเหลือประชาชน และหากงบดังกล่าวหมดสามารถขอเพิ่มได้ ซึ่งจะเร็วเพราะถือว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับภารกิจใน จ.หนองคาย  โดยนายอนุทินและคณะจะเดินทางไปยังโครงการชลประทานหนองคาย เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำในพื้นที่​ จากนั้นก่อนที่จะเดินทางไปยังต.เวียงคุก  อ.เมือง จ.หนองคาย​ เพื่อตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ ผู้ประสบอุทกภัย มอบถุงยังชีพ จำนวน 350 ถุง สภากาชาดไทย 200 ถุงและของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ป​ภ.​) อีก​ 150 ถุง

จากนั้นจะเดินทางต่อไปยังวัดพระธาตุหล้าหนอง อ.เมือง​ จ.หนองคาย​ เพื่อ ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัยและมอบถุงยังชีพจำนวน​ 450 ถุง​ สภากาชาดไทย 200​ ถุง​ เทศบาลหนองคาย​ 100 ถุง  และ​ ปภ.​ 150 ถุง ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร.