กรณี ปัญหา 8 โปรเจกต์ใหญ่ หรือ ปัญหาที่ชาวกาฬสินธุ์ขนานนามว่า ปัญหาก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร เป็นปัญหาที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากงานก่อสร้างตามโครงการพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมงบประมาณ 545 ล้านบาท ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมือง อ.ฆ้องชัย และ อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ เดือดร้อนหนักอยู่ในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ความเดือดร้อนเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน ก่อสร้างไม่เสร็จ กระทบต่อสภาพความเป็นอยู่และความปลอดภัยของประชาชนยังส่งผลให้เศรษฐกิจในชุมชนเมืองกาฬสินธุ์ เสียหายหลายร้อยล้านบาท สร้างความเสื่อมเสียให้กับจังหวัดกาฬสินธุ์-กรมโยธาฯ ซึ่ง อธิบดีกรมโยธาฯ ได้ขึ้นแบล็กลิสต์ กับ หจก.เฮงนำกิจ-หจก.ประชาพัฒน์ เป็นผู้รับจ้างพร้อมยกเลิกงานไปแล้ว 6 โครงการและเหลืออีก 2 โครงการ นอกจากนี้ปัญหาดังกล่าว เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ได้นำปัญหานี้เข้าถกในที่ประชุม กมธ. ประกาศตรวจสอบทุกโครงการที่เป็นงบประมาณแผ่นดิน จี้ให้ ป.ป.ช.-ป.ป.ท.-สตง. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ หน่วยงานองค์กรอิสระเข้าตรวจสอบ ตามที่เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

บทเรียนถนน 7 ชั่วโคตร

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ทีมข่าวเฉพาะกิจเดลินิวส์ส่วนกลาง ลงพื้นที่ติดตามปัญหาการก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร 8 โครงการงบประมาณรวมกว่า 545 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย และเป็นปัญหามหากาพย์สร้างความเดือดร้อนกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนจังหวัดกาฬสินธุ์ มาตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน เนื่องจากผู้รับจ้าง 2 หจก.ใหญ่ ก่อสร้างไม่เสร็จแม้แต่โครงการเดียว อ้างขาดสภาพคล่องและได้รับการยกเว้นระเบียบพัสดุ ว.1459 จากกรมบัญชีกลางและกรมโยธาฯ ช่วยเหลือไม่ต้องจ่ายค่าปรับแม้แต่บาทเดียว แต่ผู้รับจ้างก็ยังไม่ก่อสร้างตกเป็นผู้รับจ้างทิ้งงานตามคำสั่งของกรมโยธาฯ ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ปัญหานี้จึงส่งผลกระทบถึงความเดือดร้อนให้กับประชาชน และเศรษฐกิจเสียหายมากว่า 5 ปี ประกอบด้วย (1) โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำปาว บริเวณซอยน้ำทิพย์เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ความยาว 937 เมตร งบ 59,350,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ เบิกจ่าย 10,336,500 บาท (2) โครงการเขื่อนตลิ่งริมลำน้ำปาว หน้าวัดใต้โพธิ์ค้ำ อ.เมืองกาฬสินธุ์ ความยาว 1,141 เมตร งบประมาณ 108,800,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.ประชาพัฒน์ เบิกจ่าย 64,544,000 บาท

(3) โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี วัดใหม่สามัคคี ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย ความยาว 423 เมตร งบประมาณ 59,306,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ เบิกจ่าย 19,775,900 บาท (4) โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี (ระยะที่ 2) วัดลำชีศรีวนาราม ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย ความยาว 385 เมตร งบ 59,270,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ เบิกจ่าย 33,090,500 บาท (5) โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมลำน้ำพาน หลังเทศบาลตำบลลำพาน บ้านวังยูง อ.เมืองกาฬสินธุ์ ความยาว 526 เมตร งบ 44,490,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ เบิกจ่าย 13,737,500 บาท และ (6) โครงการระบบระบายน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมเมือง งบ 148,200,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.ประชาพัฒน์ เบิกจ่าย 80,166,000 บาท ซึ่งทางกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ประกาศยกเลิกไปแล้วทั้ง 6 โครงการ เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา

รายงานล่าสุด ได้รับการยืนยันชัดเจนจากเจ้าหน้าที่โยธาธิการและผังเมือง จ.กาฬสินธุ์ ว่าอีก 2 โครงการที่ยกเลิกล่าสุด คือโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งแก่งดอนกลาง เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ งบ 39,540,000 บาท ความยาว 583 เมตร ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ เบิกจ่าย 11,099,000 บาท และเขื่อนป้องกันตลิ่งบ้านหนองหวาย-หนองคล้า ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย ความยาว 300 เมตร งบ 39,525,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ เบิกจ่าย 20,169,000 บาท ทั้งนี้หากรวมจำนวนเงินที่เบิกจ่ายตามงวดงานไปกับเงินแอดว๊านซ์ 15% ไปแล้วจะมีมูลค่ารวมประมาณ 250 ล้านบาท ทำให้เรื่องนี้เครือข่าย ป.ป.ท. จ.กาฬสินธุ์ และธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ พร้อมเร่งรัด ติดตาม ความคืบหน้าผลการดำเนินการของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเรียกเงินค่าก่อสร้างที่เป็นเงินภาษีของประชาชนคืนทั้งหมดและจะดำเนินการเรียกร้องทางกฎหมายพัสดุต่อ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพราะเป็นความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน

นายชาญยุทธ โคตะนนท์ ประธาน เครือข่าย ป.ป.ท. จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปัญหานี้ เครือข่ายยังคงเฝ้าติดตาม เนื่องจากมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ที่ชัดเจนคือความเสียหายจากการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่ภาพรวมสูงกว่า 250 ล้านบาท แต่ปัจจุบันยังไม่มีการแก้ไขปัญหาหรือได้รับแจ้งจาก กรมโยธาธิการฯ ว่าจะมีแนวทางการดำเนินการอย่างไร เพียงแต่ทราบเป็นภายในว่า หน่วยงานรับผิดชอบกำลังดำเนินการตามขั้นตอนอยู่ ส่วนหน่วยงานที่ตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ท.-ป.ป.ช.-สตง.-ดีเอสไอ ก็กำลังติดตามตรวจสอบอยู่เช่นกัน และเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นมวยล้ม เพราะปัญหา 7 ชั่วโคตร เหตุและผลของปัญหามีความชัดเจน สร้างผลกระทบให้กับประชาชนคนกาฬสินธุ์จริง เช่นในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ แทนที่วันนี้จะได้ท่อระบายน้ำชาวบ้านไม่ต้องกลัวน้ำท่วม แต่ก็ยังสร้างไม่เสร็จ ทำให้ฝนตกลงมาก็เกิดน้ำท่วมทันที ดังนั้นระหว่างนี้ก็จะเฝ้ารอติดตามสอดส่องและรายงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด

ขณะที่ผลกระทบจากฝนที่ตกชุกในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ และจังหวัดใกล้เคียงตลอดสัปดาห์ ได้ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลำปาว และแม่น้ำชีมีน้ำหนุนสูงขึ้น โดยเฉพาะบริเวณจุดก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งทุกจุด พบว่าได้เกิดภาวะน้ำท่วมจมหาย กระแสน้ำซัดเสาเข็ม คันดินที่ขึ้นรูปเป็นตลิ่งพังทลาย เกิดความเสียหายแทบหมดสิ้น นอกจากนี้ยังได้สร้างความหวาดผวาให้กับพี่น้องประชาชน ที่อาจจะประสบความเดือดร้อนมากขึ้นอีก หากเกิดสถานการณ์น้ำหลาก เอ่อล้นตลิ่ง หรือตลิ่งถูกกระแสน้ำกัดเซาะขาด มวลน้ำไหลบ่าท่วมที่พักอาศัย และพื้นที่การเกษตรเหมือนหลายปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับบริเวณถนนชุมชนหัวโนนโกเกษตร หลังห้างบิ๊กซี จุดขึ้นป้ายถนน 7 ชั่วโคตร ที่หากมีฝนตกลงมาเกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน ชาวบ้านได้รับความลำบากมาก เนื่องจากไม่มีทางระบายน้ำ เพราะการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จดังกล่าว

รายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 13 กันยายน 2567 นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน พร้อมด้วย น.ส.วัฒนา นรบุตร ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 7 (จังหวัดขอนแก่น) และคณะเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาการโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมชุมชนเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ แบบเงียบๆ โดยลงพื้นที่ตรงถนนผังเมืองสองหนองเรือ-หัวคู (ทางไปศูนย์ราชการ) โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.กาฬสินธุ์ นำลงพื้นที่พร้อมให้ข้อมูล พบหลักฐานการก่อสร้างไม่เสร็จ ข้างทางมีหลุมและร่องน้ำขนาดใหญ่ และท่อวางระเกะระกะ มีเศษวัสดุก่อสร้างวางทิ้งไว้ตลอดเส้นทาง สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านและผู้รถใช้ถนน เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุบ่อย

ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้ ท่ามกลางความสนใจของชาวบ้านที่พบเห็น พร้อมจับกลุ่มพูดคุยอย่างมีความหวังว่าปัญหาที่สะสมมานาน จะได้รับการแก้ไข เพราะเห็นผู้หลักผู้ใหญ่ให้ความสนใจ ลงมาดูปัญหานี้ ทั้งนี้มีรายงานว่า กรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ให้ข้อเสนอแนะแนวทางเบื้องต้นกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเป็นการลดผลกระทบและไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุในบริเวณที่มีการขุดดินในพื้นที่ก่อสร้าง โดยให้ดำเนินการปรับกองดินและนำเก็บวัสดุก่อสร้าง เช่น ท่อคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูปสี่เหลี่ยม BOX CULVERTS หิน เหล็กที่กีดขวาง ให้เรียบร้อย รวมไปถึงพิจารณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังให้สามารถระบายลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้

นางศุภรัสมิ์ ประสงค์ศิลป์ รองผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะคณะทำงานโฆษกในส่วนภูมิภาค ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงพื้นที่ตรวจสอบในครั้งนี้ ว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจาก นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ได้เดินทางมาตรวจกำกับและติดตามการตรวจเงินแผ่นดิน ตลออดจนรับทราบรายงานผลการปฏิบัติราชการของสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 7 (จังหวัดขอนแก่น) ประกอบด้วย จ.ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ระหว่างวันที่ 12-13 กันยายน 2567 ซึ่งในการตรวจกำกับและติดตามการตรวจเงินแผ่นดินดังกล่าว นายพิมล ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่าน้ำท่วมชุมชนเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสวัสดิภาพของประชาชนในพื้นที่