เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 13 ก.ย.67  นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมซักซ้อมและเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำหลาก น้ำท่วมขัง และน้ำล้นตลิ่ง พร้อมด้วย นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดี สถ. และท้องถิ่นจังหวัด 10 จังหวัด ข้าราชการ และบุคลากรสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบออนไลน์

อธิบดี สถ. กล่าวว่า  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย มีข้อสั่งการเร่งด่วนให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซักซ้อมและเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำหลาก น้ำท่วมขัง และน้ำล้นตลิ่ง ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดริมแม่น้ำโขงและจังหวัดที่มีปริมาณน้ำสูง จำนวน 7 จังหวัด คือ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี และจังหวัดที่ได้มีการรับมือน้ำท่วมมาก่อนหน้านี้ จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.แพร่ น่าน และพะเยา เนื่องจากอิทธิพลจากร่องมรสุม ทำให้ประเทศไทยมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ในช่วงวันที่ 14 – 18 ก.ย.67 ส่งผลให้ระดับน้ำในพื้นที่แม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.เชียงรายและเชียงใหม่ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับความเป็นอยู่ของประชาชน มีประชาชนเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก และประกอบกับจะมีพายุโซนร้อนกำลังแรง ‘เบบินคา (BEBINCA)’ จะเลื่อนลงมาผ่านภาคเหนือตอนบน และตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ระหว่างวันที่ 14 – 17 ก.ย. ซึ่ง รมว.มหาดไทย ได้ห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว และสั่งการให้ สถ. จัดเตรียมการประชุมเตรียมการและซักซ้อมอย่างเร่งด่วน

อธิบดี สถ. กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้มีประกาศ ฉบับที่ 14 แจ้งเตือนเฝ้าระวังระดับน้ำ ‘แม่น้ำโขง’ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ช่วงวันที่ 12 – 16 ก.ย. 2567 ขอให้พื้นที่จังหวัดริมแม่น้ำโขงเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและท่วมขัง ขอให้จังหวัดแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดำเนินการเตรียมความพร้อมในการเผชิญเหตุและรับมือกับสถานการณ์ฯ ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ    นอกจากนี้ขอเตรียมความพร้อมในส่วนของงบประมาณ และการแจ้งเตือนภัย ขอให้แจ้งเตือนให้ประชาชน นักท่องเที่ยวที่สัญจร ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงผู้ประกอบการในบริเวณริมแม่น้ำโขง และผู้ที่อาศัยในพื้นที่บริเวณดังกล่าวติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และเตรียมการเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขง รวมถึงประชาสัมพันธ์ช่องทางการให้ความช่วยเหลือ ช่องทางการแจ้งเหตุต่างๆ หรือสายด่วนให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง

อธิบดี สถ. กล่าวว่า ในส่วนของการเผชิญเหตุ ให้ อปท. จัดตั้งศูนย์บัญชาการของ อปท. เมื่อเกิดฝนตกหนัก ให้ อปท. จัดชุดปฏิบัติการเพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชน และให้มอบหมายเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบและอาสาสมัครเฝ้าระวังพื้นที่ชุมชนและให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะด้านการดำรงชีพ เช่น ความช่วยเหลือด้านอาหาร น้ำดื่ม และการรักษาพยาบาล เป็นต้น หากเรามีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุและระหว่างการเผชิญเหตุ ผมก็หวังว่าการรับมือกับสถานการณ์ในช่วงหลังเกิดเหตุจะมีความทุเลาเบาบาง และก็หวังว่าจะไม่มีความเสียหายมากมายนัก จึงขอให้ทางจังหวัดมีการซักซ้อมเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ อย่างเต็มกำลังความสามารถ

อธิบดี สถ. กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเกิดเหตุในพื้นที่ ขอให้ อปท. ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นโดยฉับพลันทันทีในด้านการดำรงชีพ บรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า การเข้าระงับสาธารณภัยเพื่อคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สิน หรือป้องกันภยันตรายที่จะเกิดแก่ประชาชน ตั้งแต่เกิดสาธารณภัยจนกว่าเหตุสาธารณภัยจะสิ้นสุดลง โดยไม่ต้องเสนอคณะกรรมการพิจารณา และเบิกจ่ายจากงบกลาง ประเภทเงินสำรองจ่าย เช่น ด้านการดำรงชีพ ค่าอาหารจัดเลี้ยง วันละไม่เกิน 3 มื้อ มื้อละไม่เกิน 50 บาทต่อคน ค่าถุงยังชีพ ชุดละไม่เกิน 700 บาทต่อครอบครัว

อธิบดี สถ. กล่าวต่อว่า ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข เช่น จัดหาวัสดุ เคมีภัณฑ์ อาหาร และเวชภัณฑ์ สำหรับแจกจ่ายประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคน้ำและอาหารที่ปลอดภัย ในช่วงหลังเกิดเหตุอุทกภัย หลังจากที่ปริมาณน้ำลดลงแล้ว ความเสียหายที่เหลือทิ้งไว้ ก็จะเป็นเศษซากขยะหรือดินโคลน ซึ่งผมในฐานะประธานบอร์ดการไฟฟ้านครหลวง ได้ปรึกษากับท่านผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง ในเรื่องของการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนหลังเกิดเหตุ โดยจะขอให้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในการบำรุงรักษาปลั๊กไฟหรือสายไฟที่ชำรุดเสียหายภายในครัวเรือน ซึ่งจะมีการประสานความร่วมมือต่อไป.