เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมพิจารณาเรื่องด่วนคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา162 โดย นายชัชวาล แพทยาไทย สส.ร้อยเอ็ด พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) กล่าวว่า การแถลงนโยบายวันนี้ของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ต่อรัฐสภาแห่งนี้ว่า ประเทศต้องเดินหน้า แต่ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งประเทศไทยมีประชากร 67 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นพี่น้องภาคการเกษตร หากเขามีคุณภาพชีวิตที่ดี ประเทศก็ดีตาม แต่ที่ผ่านมาทุกๆ สมัย เกษตรกรต้องเผชิญปัญหานานับประการ ซึ่งเมื่อฟังนโยบายนายกฯ ที่แถลงต่อรัฐสภาแล้ว ไม่น่าเชื่อว่านโยบายที่จะดูแลช่วยเหลือเกษตรกรกลับมีเพียงแค่ 8 บรรทัด จากทั้งหมด 88 หน้า ตนหวังว่าในรายละเอียดวิธีการดำเนินนโยบายจะสามารถวัดผลสัมฤทธิ์ในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายชัชวาล กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม และเมื่อฟังแล้ว มีความคล้ายคลึงรัฐบาลชุดก่อน ซึ่งผ่านมาหนึ่งปี ประชาชน เกษตร ยังเผชิญปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เหมือนเดิม หนักขึ้นด้วยซ้ำ ดังนั้นขอเตือนรัฐบาลนี้ว่า หากใช้วิธีเหมือนรัฐบาลชุดที่แล้ว ปัญหาคงไม่ถูกแก้ คุณภาพชีวิตเกษตรกรก็คงมีแต่ขาดกับขาดเหมือนเดิม ขาดที่ 1 คือขาดทุน จากต้นทุนการทำเกษตรที่สูง แต่รายได้ ซึ่งตนไม่มั่นใจว่าความตั้งใจของรัฐบาลที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม 3 เท่า หรือจะเป็นหนี้เพิ่ม 3 เท่ากันแน่ 2.ขาดน้ำ และ3.ขาดการเข้าถึงทรัพยากร องค์ความรู้หรือเทคโนโลยีใหม่

“พูดถึงเรื่องน้ำ ในการอุปโภคบริโภค สำหรับประชาชน ตำบล คูเมือง อำเภอเมืองสรวงจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งผมเคยยื่นวางบิลกับ ประธานสภาไปแล้ว และมีโอกาสในการหารือแล้วซึ่งเชื่อว่ายังมีอีกหลายพื้นที่ในประเทศไทยยังใช้น้ำขุ่นๆ ล้างหน้าแปรงฟัน นายกฯ คนก่อนเคยประกาศว่าจะมุ่งเน้นในการสร้าง ระบบสาธารณูปโภคให้เกิดสุขภาวะอนามัยที่ดีผ่านการพัฒนาระบบประปา ผ่านมา 1 ปีแล้วรัฐบาลชุดนี้ก็อย่าเอาเป็นอย่าง” นายชัชวาล กล่าว

นายชัชวาล กล่าวอีกว่า ตนขอเสนอแนวทางปฏิบัติ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดผลสัมฤทธิ์ คือ สร้างระบบตลาดที่ยุติธรรม ลดอิทธิพลของพ่อค้าคนกลาง สนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกร ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีและทรัพยากร จัดให้มีเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ หรือ เงินทุนสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ส่งเสริมพัฒนาความรู้เพื่อพัฒนาทักษะนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ บริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนขยายตลาดส่งออก สร้างแบรนด์สินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในโลก

สส.ร้อยเอ็ด กล่าวด้วยว่า และข้อเสนอแนะสุดท้าย คือออกมาตรการช่วยเหลือแก่เกษตรกร เพื่อรับฤดุเก็บเกี่ยวที่ข้าวนาปีในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า จะมีข้าวเปลือกออกมาพร้อมกันมากกว่า 10 ตัน หากไม่มีมาตรการรับมือราคาข้าวเปลือกสดจะตกต่ำ ดังนั้น ต้องมีมาตรการช่วยเหลือ เช่น 1.มาตรการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีหรือจำนำยุ้งฉาง เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนและระหว่างชะลอการขายข้าว รอวันขายในราคาที่เหมาะสม

2.มาตรการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เพื่อให้สหกรณ์กลุ่มเกษตรกรหรือ ศูนย์ข้าวชุมชนเข้าถึง แหล่ง เงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เสริมสภาพคล่องสามารถรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร เป็นการซื้อนำตลาดในช่วงที่มีผลผลิตจำนวนมาก จะได้ไม่ถูกกดจากพ่อค้าคนกลาง 3.มาตรการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวเอกชน ในการเก็บสต๊อก เพื่อให้มีสภาพคล่องมารับซื้อข้าวจากเกษตรกร และ4. สนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ โดยหลังแถลงนโยบายแล้วมีอำนาจเต็มก็สามรถทำได้

“วันนี้เกษตรกร รุ่นสู่รุ่นยังไม่สามารถลืมตาอ้าปากจากอาชีพเกษตรกรรมที่บรรพบุรุษส่งมอบให้ เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมาผมเป็นหนึ่งเสียงที่ยกมือ สนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่ชื่อแพทองธาร ชินวัตร แต่จากนี้ไปผมจะทำหน้าที่ตรวจสอบการทำหน้าที่ของนายกฯ และรัฐมนตรีอย่างเข้มข้น ผมเป็นลูกหลานชาวนา เป็นชาวนา ชาวนาเลือกท่านมา อย่าทำให้ชาวนาผิดหวัง” นายชัชวาล กล่าว.