เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีวันมูหะมัดนอร์ มะทา  ประธานรัฐสภา  ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาเรื่องด่วน ครม. แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162  โดยน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวอภิปรายนโยบายของรัฐบาลตอนหนึ่งว่า  ตนจะอภิปราย ในหัวข้อเศรษฐกิจโดยเสนอแนวคิดทำแถลงนโยบายนี้ให้เป็นเสมือนจีพีเอส คอยบอกเราว่ารัฐนาวาแห่งนี้แล่นไปทางไหน มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ใดรวมถึงด้วยวิธีการและเส้นทางใด เหมือนหรือต่างกับที่เคยสัญญา กับผู้ร่วมเดินทางหรือโหวตเตอร์ของพวกเขา และจะเดินทางถึงเป้าหมายเมื่อไร  ซึ่งรัฐบาลนี้เกิดขึ้นจากการผิดคำพูดผิดสัญญาไปแล้วหนึ่งรอบและก่อนหน้านี้แกนนำของพรรคเพื่อไทยมีโอกาสบริหารประเทศมาแล้วหนึ่งปี ซึ่งมีความผิดหวังเสียใจที่ไม่สามารถส่งมอบนโยบายมาแล้ว 1 รอบ

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ตนเห็นว่าโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีควรใช้การแถลงนโยบายนี้เป็นกลไกกู้คืนความเชื่อมั่น และศรัทธาของประชาชนต่อรัฐบาลใหม่ให้กลับคืนมา และควรเป็นสัญญาที่หนักแน่นว่าอีก 3 ปีข้างหน้าจะทำอะไรนำพาความก้าวหน้าอะไรมาให้ประชาชน และวิธีการอย่างไร ซึ่งคำสัญญาจะแสดงถึงการรับผิดรับผิดชอบต่อประชาชน และจากการตรวจนโยบายที่แถลงพบว่าไม่มีอะไรแตกต่างจากรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี  ยังเป็นจีพีเอสที่พาเราหลงทาง ซึ่งมักจะเขียนใช้คำกว้างๆ แต่ไม่รู้วิธีการทำ ซึ่งตนให้คะแนนการอธิบายรายละเอียดจากการย่อยนโยบายมากกว่าตอนแถลงของนายเศรษฐา

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ส่วนการกำหนดเป้าหมาย ซึ่งจะอยู่ที่ช่วงท้ายว่า “เพื่อสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียม ให้คนไทย มีกิน มีใช้มีศักดิ์ศรี เพื่อนำพาความภาคภูมิใจมาสู่คนไทย และประเทศไทย” ตนมองว่าเป้าหมายไม่ชัด ซึ่งปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อประชาชนต้องการตรวจสอบว่าทำนโยบายแล้วหรือไม่ แต่หากเทียบกับนายกรัฐมนตรีท่านอื่นๆ ตนยังคงมอบมงให้กับคำแถลงนโยบายของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมีการบอกชัดเจนว่าสังคมเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรในปีไหน นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดที่ชัดเจนมาก

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ในครั้งนี้หลายนโยบายเขียนไม่ชัดเจนอย่าง และบางนโยบายจางหายไป เช่น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเรื่องการเติมเงิน 1หมื่นบาทโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งที่ผ่านมามีการเขียนครบและชัดเจน แต่การแถลงนโยบายในครั้งนี้คำว่า 1หมื่นบาทหายไป ซึ่งขอให้รัฐบาลตอบมาว่าจะยังได้รับเงิน 1หมื่นบาทอยู่หรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนทวงถามกันมา และสิ่งที่เป็นนโยบายเพิ่มเติมขึ้นมา รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายแปลงร่างเป็นค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสาย ซึ่งนโยบายที่แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาไม่เหมือนกับที่เคยหาเสียงไว้ แต่เหมือนกับวิสัยทัศน์ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ได้พูดไว้เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกัน 11 จาก 14 ประเด็น เช่นดิจิทัลวอลเล็ต ที่บอกว่าเริ่มจากกลุ่มเปราะบางก่อน ขุดเศรษฐกิจใต้ดินเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ ดันจีดีพีโต 50% รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายเวนคืนรถไฟฟ้าที่เอกชนบริหารมาเป็นของรัฐ หรือแม้แต่ขยายขยายกองทุนวายุภักษ์

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า แม้จะไม่มีในคำแถลงนโยบายแต่รัฐบาลได้ดำเนินการทำเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งหลายสิ่งอาจจะเป็นการรีไซเคิลซิกเนเจอร์ ของรัฐบาลไทยรักไทย โครงการพักหนี้ โครงการแลนด์บริดจ์ หรือรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งมีการเปรียบเทียบนโยบายสมัยพรรคไทยรักไทยและพรรคเพื่อไทย ที่ไม่ใช่เพียงแค่นโยบายตรงกัน แต่เหมือนระดับมิลเลอร์ AAA+เช่น รัฐบาลนายทักษิณเคยบอกประเทศไทยมีเศรษฐกิจใต้ดินสูงมากเกือบ 50% ขณะที่รัฐบาลน.ส.แพรทองธาร ก็บอกว่าเราจะสร้างรายได้ใหม่ของรัฐบาล เศรษฐกิจนอกระบบภาษีและเศรษฐกิจใต้ดิน เข้าสู่ระบบภาษีที่คาดว่ามีมูลค่าสูงกว่าร้อยละ 50% ของGDP ซึ่งความเหมือนนี้ตนมองว่าอาจจะมีปัญหาซึ่งไม่ใช่เรื่องการครอบงำ แต่จะเป็นปัญหาเรื่องความรับผิดรับผิดชอบ การที่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนเขียน ใครเป็นคนวางนโยบายทำให้การตรวจสอบทำได้ยาก และต่อไปการประชุมคณะรัฐมนตรีอาจจะเป็นเพียงพิธีกรรม เพราะเรื่องสำคัญอาจถูกตัดสินมาแล้วจากที่อื่น

“คำพูดและถ้อยคำที่เหมือนกัน แต่เอฟเฟคที่เกิดขึ้นไม่เหมือนกัน ซึ่งเราอยากเห็นนายกรัฐมนตรีที่สร้างความน่าเชื่อถือความมั่นใจให้กับประชาชนได้ว่าจะเป็นคนที่ดำเนินนโยบายที่แถลงเองจริงๆ ซึ่งยังไม่สายและขอให้ท่านได้มาตอบด้วยตนเองในรายละเอียดทั้งเรื่องมาตรการเป้าหมายกำหนดระยะเวลาของแต่ละนโยบายว่าจะทำอย่างไรเพราะ เราอยากเห็นนายกรัฐมนตรีที่มีแสงสว่างในตัวเอง เป็นดาวฤกษ์ไม่ใช่ดาวเคราะห์อย่างเช่นดวงจันทร์ที่สองสว่างโดยการใช้แสงจากพระอาทิตย์ และวันที่พระอาทิตย์สว่างจ้าเราจะไม่เห็นดวงจันทร์” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

อย่างไรก็ตามขณะที่มีการอภิปราย นายวัชระ ขาวขำ สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นประท้วง ว่าตั้งแต่พูดมายังไม่เห็นมีการพูดถึงนโยบายรัฐบาลน.ส.แพทองธาร เราวนเวียนแต่เรื่องในอดีต ซึ่งวันมูหะมัดนอร์ ประธานในที่ประชุม ได้วินิจฉัยให้น.ส.ศิริกัญญา พูดถึงนโยบายในปัจจุบันมากกว่านโยบายที่เกิดขึ้นในอดีต

จากนั้นน.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเคยอภิปรายตามมาตรา 152 ไปแล้วเมื่อเดือนเม.ย.  ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงไปมาหลายรอบ ทั้งเรื่องจำนวนประชาชนผู้ได้รับสิทธิ์ และระยะเวลาในการแจก รวมถึงแอพพลิเคชันในการดำเนินการ และงบประมาณที่จะนำมาใช้ในโครงการ ที่มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้วถึง 7 รอบ ซึ่งจะมีการใช้งบกลางปี67 ให้นำมาแจกเป็นเงินสดในโครงการก่อน ส่วนที่เหลือพยายามแบ่งงบปี 68 ทั้งกูเพิ่ม ตัดลดงบใช้หนี้ชำระแบงก์รัฐ ก็ยังไม่เพียงพอที่จะจ่ายให้ครบ 45 ล้านคน ซึ่งนายภูมิธรรม เวชยชัย นายกรัฐมนตรีมีการแถลงว่าจะมีการแบ่งจ่ายเป็นสองงวดงวดละ 5,000 พัน และหากระบบชำระเงินเสร็จทันจะแจกเป็นเงินดิจิตอลแต่หากไม่ทันจะแจกเป็นเงินสด ซึ่งตนอยากฟังให้ชัดเจนว่าโครงการนี้จะจบอย่างไร และวันที่ 15 ก.ย.นี้จะหมดเขตในการลงทะเบียน เพื่อจะได้ทราบว่ากลุ่มเป้าหมายมีกี่คนและจะหาเงินจากไหนมาแจก และยังจะแจกจำนวน 1หมื่นบาทหรือไม่ และจะแจกเป็นเงินสดหรือดิจิทัลวอลเล็ต

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า ตนขอให้รัฐบาลใหม่ได้ตั้งสติว่าการนำนโยบายเรือธงมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ซึ่งขอเดาว่ามีมือที่มองไม่เห็นที่คอยมาสั่งอย่างเดียวจะเอาให้ได้แต่ไม่รู้ว่าหน้างานเป็นอย่างไรและกฎหมายเปลี่ยนไปขนาดไหนแล้ว ฐานะการคลังรับได้แค่ไหน เมื่อไม่ได้คิดสักแต่จะทำให้ได้เพราะเป็นนโยบายเรือธงโครงการใหญ่ “เจ๊งไม่ว่าแต่เสียหน้าไม่ได้” และขณะนี้เหมือนเป็นอาการเมาหมัด ทำๆไปก่อนๆ สุดท้ายเครดิตและความเชื่อมันต่อรัฐบาลจะไม่เหลือ ซึ่งพายุหมุนที่คาดหวังจะกลายเป็นความกดอากาศต่ำ

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากนี้เรื่องการปฏิรูประบบราชการถือว่ามีความสำคัญ  เพราะมีการเขียนถึงความท้าทายเป็นรัฐราชการรวมศูนย์อุ้ยอ้าย ไร้ประสิทธิภาพ สิ่งนี่จะเป็นบทพิสูจน์สำคัญของรัฐบาลชุดนี้ว่าจะมีการเคลมเครดิตจากการเคยทำอะไรสำเร็จไว้ในอดีตได้หรือไม่ เพื่อจะได้พิสูจน์ว่าน้ำยาหรือศักยภาพที่เคยมีเมื่อ 20 ปีก่อนจะคงอยู่หรือไม่ แต่หากวิเคราะห์ตามนโยบายที่ออกมาเรื่องการปฏิรูประบบราชการ ตนรู้สึกว่าจะเป็นทางออกหรือทางรอดของการปฏิรูประบบราชการไทยผ่านถ้อยคำการแถลงนโยบายครั้งนี้.