นายสุวัฐน์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมง เปิดเผยว่า จากการที่กรมประมงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการควบคุมและกำจัดออกจากแหล่งน้ำทุกแห่ง ที่ผ่านมากรมประมงได้ร่วมมือกับการยางแห่งประเทศไทยในการดำเนินโครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง ภายใต้งบประมาณ 50 ล้านบาท โดยรับซื้อปลาหมอคางดำที่ถูกกำจัดเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำหมักชีวภาพสำหรับแจกจ่ายให้เกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งสิ้นสุดโครงการไปแล้วเมื่อสิ้นเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา พบว่าโครงการดังกล่าวฯ ได้รับผลตอบรับอย่างดีเยี่ยมสามารถรับซื้อปลาหมอคางดำที่กำจัดได้จากบ่อเลี้ยงจำนวน 436,595 กิโลกรัม และจากธรรมชาติจำนวน 144,841 กิโลกรัม รวมทั้งสิ้น 581,436 กิโลกรัม

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำ กรมประมงจึงได้มีการดำเนิน “โครงการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ระยะเร่งด่วน” ขึ้น เพื่อเร่งกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง โดยในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม กรมประมงได้ประสาน บริษัท ศิริแสงอารำพี จำกัด เพื่อรับซื้อปลาหมอคางดำในการผลิตปลาป่น ส่วนในพื้นที่อื่นที่มีการแพร่ระบาดใน จำนวน 11 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา นครปฐม นนทบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา

กรมประมงได้เปิดรับสมัครแพปลาเข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มจากที่มีอยู่เดิม เพื่อสร้างแรงจูงใจในการกำจัดปลาหมอคางดำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ด้วยการอำนวยความสะดวกและกระจายจุดรับซื้อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และกำหนดราคารับซื้อที่กิโลกรัมละ 20 บาท (รวมค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายทั้งปวง) ตั้งแต่วันนี้จนถึง 25 กันยายน 2567 นี้ จากนั้นแพปลาจะทำการรวบรวมและนำส่งหน่วยงานสังกัดกรมพัฒนาที่ดินในพื้นที่ เพื่อนำไปผลิตน้ำหมักชีวภาพต่อไป โดยคาดการณ์ว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการฯ จะสามารถรับซื้อปลาหมอคางดำได้ทั้งสิ้น 100,000 กิโลกรัม

สำหรับผู้ที่ประสงค์นำปลาหมอคางดำที่จับได้จากธรรมชาติมาขาย สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ หรือพื้นที่ใกล้เคียง หรือติดต่อสอบถามได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง เบอร์โทรศัพท์ 0 2562 0494