น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ เปิดเผยว่า กสทช.ได้ประชุมหารือเกี่ยวกับ ระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน ในกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล และผู้รับอนุญาตให้บริการโครงข่ายให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล (มักซ์) ของกองทัพบก  ไทยพีบีเอส บมจ.อสมท และกรมประชาสัมพันธ์ พร้อมทั้งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)

“ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. ได้หารือแนวทางดำเนินการร่วมกับผู้ประกอบการและผู้ให้บริการ มักซ์ เกี่ยวกับระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉินผ่านช่องรายการทีวีดิจิทัล เพื่อผลักดันให้เกิดแผนงานที่เป็นรูปธรรม และหารือกับโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหารือถึงความเป็นไปได้ในการจัดให้มีช่องทางสื่อสารเฉพาะกิจในห้วงเวลาที่อาจเกิดภัยพิบัติธรรมชาติเพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนทั่วไปในทุกภูมิภาคมีโอกาสได้รับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับภัยธรรมชาติก่อนที่จะเกิดเหตุ รวมถึงรับทราบข้อมูลเพื่อการป้องกันแก้ไขและเยียวยา เมื่อภัยพิบัติต่างๆ เกิดขึ้น ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ที่จะดำเนินการได้ตามแผนการจัดให้มีบริการกระจายเสียงและบริการโทรทัศน์พื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม หรือ ยูโซ่ ด้านวิทยุและโทรทัศน์”

น.ส.พิรงรอง กล่าวต่อว่า  กองทัพบก โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตโครงข่ายฯ ได้พัฒนาระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน สำหรับกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลขึ้นแล้ว และมีหนังสือแจ้งความประสงค์ขอดำเนินการทดลองทดสอบระบบดังกล่าว มีเป้าหมายพัฒนาระบบแจ้งเตือนเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพื่อบรรเทาผลกระทบและยับยั้งความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น จากปัญหาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงเหตุฉุกเฉินต่างๆ เช่น เหตุอาชญากรรมที่มีความรุนแรง หรือแหล่งเก็บสารเคมีรั่วไหลในหลายพื้นที่ ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและกระทบต่อประชาชนโดยตรง

ซึ่งทางผู้ประกอบการ ช่องรายการต่างๆ ยินดีที่จะเข้าร่วมการทดลองทดสอบ เพื่อนำข้อสรุปมาจัดทำแผนดำเนินการจริง สามารถส่งสารให้ประชาชนรับรู้ได้โดยไม่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก ทั้งขั้นตอนดำเนินการ ลักษณะและรูปแบบการสื่อสารทั้งข้อความหรือภาพรายการแจ้งเตือน พื้นที่และวันเวลาที่แน่นอนในการทดลองทดสอบการแจ้งเตือนสำหรับภัยพิบัติในระดับต่างๆ นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเกี่ยวกับการทดลองทดสอบการแจ้งเตือนภัยในครั้งนี้ด้วย.