สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ว่านับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 รัฐบาลสหรัฐสามารถเรียกเก็บภาษีจากบรรดามหาเศรษฐีได้ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 44,004 ล้านบาท) เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการให้บุคคลรายได้สูงจ่ายภาษีค้างชำระ

นางเจเน็ต เยลเลน รมว.คลังสหรัฐ กล่าวโดยอ้างถึงรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าระหว่างปี 2553-2561 อัตราการตรวจสอบบัญชีของเศรษฐีลดลงถึงร้อยละ 80 ขณะที่การตรวจสอบบัญชีของผู้มีรายได้น้อยกว่าปีละ 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.7 ล้านบาท) กลับเพิ่มขึ้น

นโยบายภาษีกลายเป็นประเด็นร้อน เมื่อใกล้ถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 5 พ.ย. นี้ ผู้สมัครชิงตำแหน่งทั้งนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน จากพรรคเดโมแครต และทรัมป์จากพรรครีพับลิกัน ต่างพยายามดึงดูดผู้เสียภาษีด้วยข้อเสนอต่าง ๆ โดยนางแฮร์ริสได้ผลักดันให้เก็บภาษีบุคคลร่ำรวยมากขึ้น

เยลเลนกล่าวว่า มีการคาดการณ์เมื่อปี 2562 ว่าชาวอเมริกันซึ่งมีรายได้สูงสุดร้อยละ 1 ค้างชำระภาษีมากกว่า 1 ใน 5 ส่งผลให้คนทั่วไปหรือคนชั้นกลาง ต้องแบกรับภาระดังกล่าวแทน

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังของสหรัฐ รายงานว่า นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่เริ่มดำเนินการ ติดตามบุคคลรายได้สูงที่ไม่ยอมชำระภาษี เมื่อช่วงปลายปี 2566 เศรษฐีร้อยละ 80 จากทั้งหมด 1,600 คนได้จ่ายภาษีคงค้าง ซึ่งช่วยฟื้นฟูรายได้ของรัฐมากกว่า 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 37,257 ล้านบาท)

ส่วนความพยายามอีกระลอก เมื่อช่วงต้นปี 2567 ได้ทำให้เศรษฐีที่ไม่ได้ยื่นภาษีมาตั้งแต่ปี 2560 ชำระเงินคืนมาแล้ว 172 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5,826 ล้านบาท).

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES