ที่ห้องประชุมโรงแรมริเวอร์ตันอัมพวา ต.ลาดใหญ่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม นายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา ผวจ.สมุทรสงครามเป็นประธานเปิดโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย พ.ศ. 2567 (OTOP Product Champion : OPC) จ.สมุทรสงคราม เนื่องจากกรมการพัฒนาชุมชนได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ (กอ.นตผ.) ให้ดำเนินการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ไทยทุก 2 ปี เพื่อจัดระดับผลิตภัณฑ์ (Product Level) ที่จะนำไปสู่การพัฒนาระดับประเทศ (Product Development) จัดระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ (Profile) ที่จะใช้ในการทำงานเชิงบูรณาการของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างคุณค่าของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับแก่บุคคลทั่วไปจนสามารถใช้เป็นแหล่งรายได้และความเข้มแข็งให้กับชุมชน อีกทั้งยังกระตุ้นให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และชุมชน ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานในระดับสากล โดยมีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ที่ผ่านการลงทะเบียน เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอ คณะกรรมการดำเนินการคัดสรรร่วมงานกว่า 100 คน

นางวาสนา ไขว์พันธุ์ พัฒนาการ จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่าจากข้อมูลการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ไทยของ จ.สมุทรสงครามมีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ที่ลงทะเบียนตั้งแต่ปี 2557 ถึงเดือนสิงหาคม 2567 จำนวน 748 ราย จำนวน 2,164 ผลิตภัณฑ์ แยกเป็นประเภทอาหาร 1,248 ผลิตภัณฑ์ เครื่องดื่ม 116 ผลิตภัณฑ์ ผ้าและเครื่องแต่งกาย 72 ผลิตภัณฑ์ ของใช้ของตกแต่งของที่ระลึก 279 ผลิตภัณฑ์ และประเภทสมุนไพรไม่ใช่อาหาร 448 ผลิตภัณฑ์

ส่วนการคัดสรรผลิตภัณฑ์ OTOP พ.ศ. 2567 จ.สมุทรสงครามมีผู้ประกอบการส่งเข้าร่วม 49 ราย จำนวน 98 ผลิตภัณฑ์ แยกเป็นประเภทอาหาร 58 ผลิตภัณฑ์ เครื่องดื่ม 3 ผลิตภัณฑ์ ผ้าและเครื่องแต่งกาย 13 ผลิตภัณฑ์ ของใช้ของตกแต่งของที่ระลึก 12 ผลิตภัณฑ์ และประเภทสมุนไพรไม่ใช่อาหาร 12 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนได้จัดสรรเป้าหมายผลิตภัณฑ์ปี 2567 ให้ จ.สมุทรสงครามคัดสรรให้ได้ 78 ผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม จ.สมุทรสงครามมีผู้สมัครรวม 98 ผลิตภัณฑ์ มากกว่าเป้าหมาย 20 ผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมคัดสรรครั้งนี้เป็นกลุ่มอาชีพ กลุ่มสัมมาชีพชุมชนที่ลงทะเบียนเป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และผู้ประกอบการ 1 รายสามารถส่งผลิตภัณฑ์เข้าคัดสรรได้ไม่เกิน 3 ผลิตภัณฑ์ และเมื่อได้รับการจัดระดับดาวซึ่งแบ่งเป็นระดับ 1 ดาวจนถึง 5 ดาว จะทำให้มีโอกาสได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเพิ่มช่องทางการตลาดมากขึ้น

ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ที่เข้าคัดสรรต้องผ่านการขออนุญาตและการรับรองมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เช่น อย. แต่หากไม่มีข้อกำหนดของกฎหมายระบุไว้ต้องผ่านการรับรองมาตรฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ก่อนวันสมัครเข้ารับการคัดสรร เช่น มผช, มอก., ฮาลาล, คิวมาร์ค (OmarK), GAP, GMP, HACCP และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น ทั้งนี้ใบรับรองต้องไม่หมดอายุก่อนวันรับสมัครคัดสรรในระดับจังหวัด

สำหรับการคัดสรรครั้งนี้เป็นการคัดสรรระดับจังหวัดภาค ก และ ภาค ข ภาค ก คือการประเมินผลิตภัณฑ์และความเข้มแข็งของชุมชน 25 คะแนน ประกอบด้วย ด้านที่ 1 การผลิต 10 คะแนน ได้แก่ แหล่งที่มาของวัตถุดิบ การขยายปัจจัยการผลิต และการรักษาสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต ด้านที่ 2 การพัฒนาผลิตภัณฑ์ 8 คะแนน ได้แก่การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ ด้านที่ 3 จำนวน 7 คะแนน ได้แก่ระยะเวลาในการจัดตั้งกลุ่ม (ตั้งแต่ทำธุรกิจ) และการจัดทำบัญชี

ส่วนภาค ข ด้านการตลาดและความเป็นมาของผลิตภัณฑ์ 20 คะแนน ได้แก่ ด้านที่ 1 การตลาด 8 คะแนน ได้แก่ รายได้ในการจัดจำหน่ายสินค้าเทียบกับปีที่ผ่านมา และความต่อเนื่องของตลาด และด้านที่ 2 ความเป็นมาของผลิตภัณฑ์ 12 คะแนน ได้แก่ เรื่องราวของผลิตภัณฑ์ และภูมิปัญญา /เอกลักษณ์ของท้องถิ่น จากนั้นจะส่งผลคะแนนภาค ก และภาค ข ของแต่ละผลิตภัณฑ์ให้กรมการพัฒนาชุมชนพิจารณาเพื่อให้คะแนนภาค ค ในการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์และจัดระดับดาวต่อไป คาดว่าจะรู้ผลในเดือน ต.ค.67 นี้