นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครั้งที่ 4/2567  ว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ จึงได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน พร้อมวางแผนฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยหลังน้ำลด เพื่อเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบให้สามารถกลับมาเพาะปลูกได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งที่ประชุมวันนี้ ได้ร่วมกันพิจารณาแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม เพื่อการฟื้นฟูเกษตรกรหลังน้ำลด ปี 2567 ของหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมพัฒนาที่ดิน และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทบทวนแผนงาน โครงการเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างครอบคลุม และจะรวบรวมนำเสนอในการประชุมครั้งหน้า ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป 

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รายงานผลกระทบด้านการเกษตรจากสถานการณ์อุทกภัย ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 – ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 6 กันยายน 2567) ดังนี้ 1. ด้านพืช ได้รับผลกระทบ 39 จังหวัด เกษตรกร 131,458 ราย พื้นที่ได้รับผลกระทบ 850,084 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 728,547 ไร่ พืช ไร่และพืชผัก 90,954 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่น ๆ 30,583 ไร่ 2. ด้านประมง ได้รับผลกระทบ 23 จังหวัด เกษตรกร 11,555 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ 9,046 ไร่ และ 3. ด้านปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบ 16 เกษตรกร 54,842 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 3.3 ล้านตัว แบ่งเป็น โค 88,966 ตัว กระบือ 19,036 ตัว สุกร 74,326 ตัว แพะ/แกะ 3,890 ตัว และสัตว์ปีก 3.1 ล้านตัว แปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ 2,568.05 ไร่

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมการให้ความช่วยเหลือเพื่อ อาทิ จัดเตรียมเมล็ดพันธุ์และต้นพันธุ์พืชไว้ ซึ่งเป็นพืชอายุสั้นที่เกษตรกรสามารถนำไปปลูกเพื่อเป็นอาหารลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวและเพิ่มรายได้ เช่น เมล็ด พันธุ์พืชผัก จำนวน 319,669 ซอง ประกอบด้วย ผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง พริก มะเขือเปราะ กระเจี๊ยบเขียว ถั่วฝักยาว และถั่วพู ต้นพันธุ์พืชผักพืชอาหาร จำนวน 113,000 ซอง ได้แก่ พริก มะเขือเปราะ และต้นพันธุ์ไม้ ผลไม้ยืนต้น จัดเตรียมเชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อให้เกษตรกรนำใช้ในการฟื้นฟู ป้องกันเชื้อสาเหตุโรคพืชสำหรับพื้นที่เพาะปลูกไม้ผลหลังน้ำลด ตลอดจนเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัย และสารเร่งซุปเปอร์ พด.6 เพื่อบำบัดน้ำเสีย