กรณีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยกรณีการปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติตามที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานีประกาศปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ บางกุ้ง ต.บางกุ้ง อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 67 ทำให้มีการปิดศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีทุกแห่ง ส่งผลให้เด็กลูกหลานแรงงานข้ามชาติในพื้นที่กว่า 2,000 คน ต้องหยุดเรียนกลางคัน นั้น

คุมเข้มโรงเรียนเถื่อน-สุราษฎร์ ลอบเปิดผิดกฎหมาย กระทบความมั่นคง

คืบหน้า เมื่อวันที่ 9 ก.ย. นายโชคดี ศรัทธากาล ศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาสถานที่เรียนให้เด็กสัญชาติเมียนมา หลังมีคำสั่งปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ ว่า ก่อนจะมีคำสั่งปิดและแจ้งความดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องในการเปิดศูนย์การเรียนที่ไม่ได้รับอนุญาต สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจแล้วหลายครั้ง รวมทั้งได้มีการทำประวัติเด็กสัญชาติเมียนมาที่อยู่ในศูนย์ฯดังกล่าวไว้แล้ว และสามารถติดตามตัวได้ทุกราย

นายโชคดี กล่าวว่า เราได้ยืนยันตลอดมาว่าในการแก้ไขปัญหาหลังมีการปิดศูนย์การเรียนไปแล้ว ทางสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทั้งสังกัดภาครัฐ เอกชน และปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีจำนวน 928 แห่ง ครอบคลุมทั้งจังหวัด มีศักยภาพในการรองรับเด็กๆเหล่านั้นให้เข้าสู่ระบบการศึกษาของไทย โดยก่อนหน้านี้เราได้เข้าดำเนินการที่ศูนย์การเรียนที่วัดโพธิ์หวาย ซึ่งมีเด็กชาวเมียนมากว่า 300 คน หลังมีคำสั่งปิดศูนย์ดังกล่าวนักเรียนของศูนย์ฯได้เข้าไปเรียนที่โรงเรียนระดับประถมศึกษาของภาคเอกชนครบทุกคน

“แต่ในส่วนศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ ที่หน่วยงานราชการได้เข้าไปพูดคุยกับครูใหญ่ และผู้เกี่ยวข้อง กลับไม่ได้รับความร่วมมือโดยอ้างว่าต้องการให้เด็กชาวเมียนมามีการเรียนการสอนตามหลักสูตรของประเทศเมียนมาจึงทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาของสำนักงานศึกษาธิ

การจังหวัดสุราษฎร์ธานี เรามุ่งเน้นในเรื่อง อนุสัญญาสิทธิเด็กอย่างเคร่งครัด “ นายโชคดี กล่าว

นายโชคดี กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีเด็กชาวต่างด้าว โดยเฉพาะลูกหลานของแรงงานชาวเมียนมาที่เข้าสู่ระบบการศึกษาของไทยเกินกว่าร้อยละ 50 กระจายอยู่ตามโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเด็กเหล่านี้ได้รับการดูแล และมีสิทธิ์ตามเด็กไทยทุกประการ

“แต่ปัญหาที่เราเป็นห่วง คือกลุ่มเด็กที่พ่อแม่ผู้ปกครองเข้าเมืองมาโดยผิดกฎหมาย ในกลุ่มเด็กเหล่านี้จะมีปัญหาในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของประเทศไทย อย่างกรณีศูนย์การเรียนที่วัดสมหวังวราราม ต.วัดประดู่ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี มีเด็กอยู่ในศูนย์ประมาณ 400 คน และพบว่าเป็นเด็กที่พ่อแม่ผู้ปกครองผู้ปกครองเป็นกลุ่มที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเกินกว่าครึ่ง ซึ่งกรณีนี้อยู่ระหว่างการหาทางช่วยเหลือ ” นายโชคดี กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า ในเพจ กสม.ได้มีผู้แสดงความเห็นกรณีดังกล่าวว่า รัฐไม่ได้ปิดศูนย์แบบเหมารวม ศูนย์นี่ขาดคุณสมบัติไม่ครบตามกฎหมายรัฐจะอนุญาตให้เปิดสอนได้อย่างไรหรือถ้าเป็นคนต่างด้าวทำผิดกฎหมายไทยต้องละเว้นให้จะเป็นอภิสิทธิ์ชนบนแผ่นดินชาติอื่นไม่ได้หรือ กสม.ไม่คำนึงความมั่นคงของชาติเลย..ถ้าจะเปิดศูนย์สอนเด็กก็ต้องทำตามกฎหมายไทยและใช้หลักสูตรของไทยสอนไม่ใช่ใช้หลักสูตรของพม่า.