นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมเจ้าท่า เร่งดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือวงแหวนอันดามัน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และรองรับการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร เนื่องจากพื้นที่ชายฝั่งทะเล บริเวณสามเหลี่ยมอันดามัน มีพื้นที่เชื่อมต่อชายฝั่ง จ.ภูเก็ต พังงา กระบี่ โดยจาก จ.ภูเก็ต ไปยัง จ.กระบี่ ผ่านเกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ จ.พังงา จำเป็นต้องพัฒนาท่าเรือที่อ่าวปอ จ.ภูเก็ต ท่าเรือท่าเลน จ.กระบี่ และท่าเรือมาเนาะ ท่าเรือช่องหลาด จ.พังงา เพื่อสนับสนุนการเดินทางทางน้ำที่จะลดเวลาการเดินทาง และการท่องเที่ยวทางน้ำ
นางมนพร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการเดินทางทางบกจากสนามบินกระบี่ไปสนามบินภูเก็ต ระยะทาง 145 กิโลเมตร (กม.) ใช้เวลา 3 ชั่วโมง (ชม.) 30 นาที แต่หากมีการเดินทางทางน้ำตามเส้นทางเดินเรือในอนาคตท่าเทียบเรือมาเนาะ จ.พังงา-ท่าเทียบเรือช่องหลาด จ.พังงา-ท่าเทียบเรือเฟอร์รี่อ่าวปอ จ.ภูเก็ต-ท่าเทียบเรือเฟอร์รี่ท่าเลน จ.กระบี่ ระยะทาง 97 กม. ใช้เวลา 2 ชม. ซึ่งเร็วกว่าการเดินทางทางบก ประหยัดเวลาได้ 1 ชม. 30 นาที ที่สำคัญยังช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวทางน้ำ และเมืองรองให้สามารถเข้าถึง และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และภูมิภาคตามนโยบายรัฐบาลด้วย
ด้านนายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือวงแหวนอันดามัน มี 4 โครงการ งบประมาณรวม 740 ล้านบาท โดยกรมเจ้าท่าได้รับจัดสรรงบประมาณปี 67 จำนวน 360 ล้านบาท เพื่อดำเนิน 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างปรับปรุงท่าเรือมาเนาะ ต.เกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา งบประมาณ 175 ล้านบาท (งบผูกพัน 3 ปี ปี 67-69) และ 2.ก่อสร้างปรับปรุงท่าเรือช่องหลาด ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา งบประมาณ 185 ล้านบาท (งบผูกพัน 3 ปี ปี 67-69) ซึ่งสถานะทั้ง 2 โครงการ อยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง คาดว่าเริ่มก่อสร้างในปี 67 แล้วเสร็จปี 69 ระยะเวลาดำเนินการ 900 วัน
นายกริชเพชร กล่าวต่อว่า ท่าเรือทั้ง 2 แห่ง เดิมเป็นท่าเรือคอนกรีตเสริมเหล็ก มีสะพานท่าเรือ หน้าท่าเรือยาว มีบันไดขึ้นลงเรือค่อนข้างแคบ ไม่มีหลักผูกเรือ ไม่มียางกันกระแทก ท่าเรือเก่า ชำรุดทรุดโทรม ความปลอดภัยในการใช้งานต่ำ จำเป็นต้องปรับปรุงก่อสร้างท่าเรือใหม่ อาทิ อาคารบริการ-ที่พักนักท่องเที่ยว รองรับเรือบรรทุกสินค้า ผู้โดยสาร เรือเร็ว เรือหางยาว พื้นที่จอดเรือ ลานจอดรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ รวมทั้งการนำงานออกแบบสถาปัตยกรรมในท้องถิ่นมาใช้ เพื่อให้เกิดความสวยงาม และสื่อถึงอัตลักษณ์ในแต่ละพื้นที่อีกด้วย
นายกริชเพชร กล่าวอีกว่า ส่วนอีก 2 โครงการ งบประมาณ 380 ล้านบาท ได้แก่ 1.ท่าเรือเฟอร์รี่อ่าวปอ จ.ภูเก็ต งบประมาณ 280 ล้านบาท และ 2.ท่าเรือเฟอร์รี่ท่าเลน จ.กระบี่ งบประมาณ 120 ล้านบาท กรมเจ้าท่าได้ขอจัดตั้งงบประมาณในปี 68 เพื่อก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 70 ระยะเวลา 900 วัน อย่างไรก็ตามเมื่อโครงการแล้วเสร็จทั้งหมด จะช่วยยกระดับมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือ ส่งเสริมการเดินทาง ขนส่งทางน้ำให้มีความสะดวกปลอดภัย และสนับสนุนการท่องเที่ยวทางน้ำ เกิดการเชื่อมโยงการเดินทางทางน้ำเป็นวงแหวนเชื่อมระหว่าง จ.ภูเก็ต-พังงา-กระบี่ (วงแหวนอันดามัน) ลดระยะเวลาเดินทางเมื่อเปรียบเทียบกับทางถนน ก่อให้เกิดการขนส่งรถยนต์ผ่านทางเรือวิ่งตัดอ่าวพังงา สร้างรูปแบบใหม่ของการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ กระตุ้นเศรษฐกิจ และธุรกิจการท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างยั่งยืน.