นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า จากการติดตามภาพรวมความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด) ระยะ(เฟส)ที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา พบว่า การดำเนินงานแต่ละสัญญามีความคืบหน้าไม่สอดคล้องกันทั้งโครงการ บางสัญญามีความคืบหน้าค่อนข้างมาก ขณะที่บางสัญญามีความคืบหน้าน้อยมาก ซึ่งต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาผู้รับจ้างขาดสภาพคล่อง โดยตนจะตั้งคณะทำงาน เพื่อหารือร่วมกับผู้รับผิดชอบงานก่อสร้าง และผู้รับจ้างทั้ง 14 สัญญา เพื่อแก้ปัญหา บูรณาการงานร่วมกัน และผลักดันให้การก่อสร้างมีความคืบหน้า และแล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนด

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า มั่นใจว่าจะแก้ไขทุกปัญหา และผลักดันให้โครงการรถไฟไฮสปีดไทย-จีน เฟสที่1 สามารถก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้ประมาณกลางปี 71 ปัจจุบันโครงการดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จ2 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา และรอลงนามสัญญา 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองระยะทาง 15.21 กิโลเมตร(กม.) อยู่ระหว่างรอการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เนื่องจากเป็นช่วงที่มีโครงสร้างทับซ้อนกัน

และสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. ปัจจุบันได้บริษัท บุญชัยพาณิชย์(1979) จำกัด เป็นผู้รับจ้าง แต่ยังไม่สามารถลงนามก่อสร้างได้ เนื่องจากยังมีข้อห่วงใยว่าการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยู่ใกล้กับพื้นที่เกาะเมืองอยุธยา ที่เป็นพื้นที่มรดกโลก ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณารายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (HIA)  ของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เชื่อมโยงกับสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ซึ่งปัจจุบันส่งรายงานฯไปยังองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) แล้ว ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ยูเนสโก ไม่ได้คัดค้านสร้างสถานีอยุธยา เพียงแต่สอบถามเพื่อยืนยันข้อมูลเท่านั้น

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ตอบกลับข้อมูลมาเป็นปี ทำให้ยูเนสโกกังวลใจและทำหนังสือทวงถาม ปัจจุบัน รฟท. ชี้แจงทุกข้อมูลแล้ว และมั่นใจว่าการก่อสร้างสถานีอยุธยาจะไม่ขัดต่อการเป็นมรดกโลก เพราะที่ผ่านมา รฟท. พยายามลดข้อกังวลต่างๆ ให้หมดแล้ว ทั้งการปรับขนาดสถานี และลดความสูงระดับสันรางลงจากเดิม 19 เมตร เหลือ 17 เมตร อีกทั้งตำแหน่งสถานีอยุธยาก็อยู่ในเขตทางรถไฟเดิม ไม่ได้กระทบต่อมรดกโลก ซึ่ง แม้ HIA จะผ่านหรือไม่ผ่าน รฟท. ก็ต้องสร้าง เพราะถ้าให้ย้ายแนวเส้นทาง ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นและทำรายละเอียดใหม่ทั้งหมด ใช้เวลา 10 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตามรถไฟไฮสปีดไทยจีนต้องมีสถานีอยุธยาจะให้ รฟท. ลงนามสัญญากับผู้รับจ้างในเดือน ต.ค.67 ซึ่งภายหลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภา จะรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบด้วยว่า กระทรวงคมนาคมจำเป็นต้องเดินหน้าเรื่องนี้

นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร วงเงิน 50,633 ล้านบาท ยังมีความคืบหน้าไม่มาก การติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณต้องรอให้การก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งเส้นก่อน ขณะที่เรื่องการเดินรถตลอดเส้นทางทั้งเฟส 1 และ 2 จะเป็นรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) หรือไม่ ขอให้ รฟท. ได้ดำเนินการศึกษาก่อน ซึ่งจะใช้งบประมาณปี 68 ไม่เกิน 10 ล้านบาท เพื่อศึกษารูปแบบการเดินรถว่าต้อง PPP หรือไม่ คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จเดือน มี.ค.68

ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟไทย-จีน เฟส 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กม. วงเงิน3.41 แสนล้านบาท เรื่องอยู่ที่ตนแล้ว แต่ก่อนหน้านี้อยู่ในช่วงรักษาการจึงยังไม่สามารถดำเนินการได้ โดยมีแผนว่าหลังจากแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในเดือน ก.ย.แล้วเสร็จ จะส่งเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.) ทันทีเพื่อสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ได้ในเดือน ต.ค.นี้ และเปิดประมูลได้ปลายปี 67

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันภาพรวมการก่อสร้างโครงการฯ 14 สัญญา ระยะทาง 357 กม. วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท มีความคืบหน้า 35.74% ล่าช้า 31.04% โดยหลายสัญญางานมีความคืบหน้าค่อนข้างมากกว่า 70-80% ขณะที่หลายสัญญามีความคืบหน้าน้อยมากไม่ถึง 10% ซึ่งในส่วนสัญญาที่ 4-5 ขณะนี้เอกชนยังคงยืนราคาเดิม10,325 ล้านบาท ทั้งนี้หากสามารถลงนามสัญญากับเอกชนได้ในเดือน ต.ค.67 คาดว่า รฟท. จะออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน(NTP) ได้ไม่เกิน 2 เดือนภายหลังจากลงนามสัญญา เพื่อเริ่มงานก่อสร้างได้ในปลายปี 67.