ทีมข่าวเดลินิวส์ จะพามารู้จักประวัติ พระเกจิชื่อดัง แดนอีสาน กับ พระครูพิพัฒน์วิทยาคม หรือ หลวงพ่อเจริญ ฐานยุตฺโต แห่งวัดโนนสว่าง จ.อุดรธานี ผู้สยบอวิชชาด้วยพุทธคุณ โดย หลวงพ่อเจริญ นามเดิม นายเจริญ สารักษ์ เกิดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2504 ที่บ้านหนองวัวซอ ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ปัจจุบันคือตำบลหนองบัวซอ โยมปู่เป็นชาวบ้านหนองไข่นก อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี บิดา นายสงวน สารักษ์ มารดา ชื่อนางฮวด โคตรวิท เป็นชาวบ้านเชียงหวาง อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี เชื้อสายทางบิดาเป็นชาวอุบลราชธานีโดยกำเนิดเกี่ยวพันเป็นลูกหลานของ หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม วัดสิริสาลวัน บ้านโนนทัน อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 10 คนเป็นชาย 8 คนหญิง 2 คน หลวงพ่อเป็นคนที่ 6

บรรพชา เป็นสามเณร ณ วัดบุญญานุสรณ์ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี มีพระครูประสิทธิ์คณานุการ อดีตเจ้าคณะอำเภอหนองวัวซอ ธรรมยุต เป็นพระอุปัชฌาย์ ขณะเป็นสามเณรได้สนใจศึกษาหัดอ่านเขียนคัมภีร์ใบลานอักษรธรรมอีสานกับญาท่าน พุธ วัดบ้านหนองไหล อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี แล้วญาท่านพุธได้แนะนำให้ไปเรียนวิชาอยู่ยงคงกระพันกับพ่อใหญ่จารสอน ที่บ้านหนองไหล และได้แตกฉานตัวธรรมกับพ่อใหญ่ดี พูนเพิ่ม (มั่น) ผู้ เฒ่าที่ปราชญ์ชาวบ้านซึ่งสามารถอ่านเขียนและจารอักษรธรรมอีสานได้ และท่านผู้นี้เป็นฆราวาสที่มีอาคมด้วย จึงได้เรียนอักษรธรรมและอาคมบ้างพอประมาณ

ต่อมาจึงสามารถอ่านเขียนอักษรธรรมล้านนาและอักษรไทยน้อยได้จนแตกฉานและ สามารถจารหนังสือใบลานได้ตั้งแต่บรรพชาไม่ถึง 2 พรรษา ความที่ไม่เข้าใจว่าทำไมชาวบ้านจึงนับถือภูตผีปีศาจ จึงศึกษาถึงที่มาที่ไปจนผ่านไปหลายปีจึงทราบได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงให้เลิก นับถือสิ่งเหล่านั้นและให้ถือพระรัตนตรัยแทน จึงเริ่มสนใจในวิชาพุทธาคมและเริ่มศึกษาควบคู่ไปกับการศึกษาข้อความใน คัมภีร์ซึ่งต่อมาทำให้เป็นผู้มีความรอบรู้ในเรื่องพระคัมภีร์อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพระสูตร เรื่องราวในทางธรรมะต่างๆ ตำรายาแผนไทยโบราณ ตำราดวงชะตา ตำราลงอักขระปลุกเสกต่างๆ ซึ่งได้ศึกษาพอประมาณ

ต่อมา จึงได้ถวายตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์สมพงษ์หรือพระธรรมสังวร วัดพระพุทธบาทบัวบก อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เรียนวิชาลงตะกรุดโทนและวิชารักษาคนผู้ถูกมนต์ดำทำร้ายเป็นต้น และอาศัยอยู่กับหลวงปู่โถน พระครูสถิตธรรมรัตน์ วัดเลียบ บ้านโสกแจ อ.กุดจับ จ.อุดรธานี ได้เรียนวิชาลงตะกรุดหกกษัตริย์ และกบตายคารู และลงตะกรุดมหารูด และวิชาคัดเชิง และลงนะหน้าทอง และอีกหลายอย่าง ตอนเป็นสามเณรได้ไปกราบหลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล หนองบัวลำภู เป็นต้น

เมื่ออายุ 20 ปีบริบูรณ์ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดป่าสามัคคีอุปถัมภ์ อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย โดยมีพระครูสิริธรรมวัฒน์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสุนทรนวกิจ วัดอรุณรังสี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูวินัยกิตติโสภณ เป็นพระอนุสวนาจารย์ ได้ฉายาว่า “ฐานยุตฺโต” ในคณะธรรมยุต

เมื่อ อุปสมบทแล้วได้ไปจำพรรษาอยู่กับพระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่เมตตาหลวง) วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา หลวงปู่ให้เรียนวิชาเมตตาหลวง ตำราเลขยันต์ คาถาลงตะกรุดโทน แคล้วคลาด ยันต์ตรีนิสิงเห และสอนให้บริกรรมธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ นะ มะ พะ ทะ หลายปีต่อมาไปช่วยงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณนานิคม ได้ไปกราบ หลวงปู่สาม อกิญจโน วัดป่าไตรวิเวก จ.สุรินทร์ และได้มีเพื่อนเป็นหลานหลวงปู่สามและได้เรียนวิชาลงตะกรุดมหารูด และพิธีจัดพุทธาพิเษก จากหลวงปู่ญาท่านบุญตา ถาวโร วัดป่าบ้านหนองไหล อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี

เมื่อ หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม วัดสิริสาลวัน หนองบัวลำภู มรณภาพลง ได้มางานพระราชทานเพลิงศพท่านและได้รับนิมนต์ให้อยู่ต่อ ต่อมาพระครูพุทธศาสโนวาท (ชาลี) เจ้าอาวาสวัดศรีสว่าง จ.อุดรธานี ชื่อวัดในขณะนั้น ถึงแก่มรณภาพลง จึงได้อยู่ช่วยงานศพจนแล้วเสร็จ ชาวบ้านจึงอาราธนาให้จำพรรษาที่วัดนั้น และขอให้ช่วยพัฒนาวัดด้วยเพราะเป็นวัดในอำเภอบ้านเกิด จนกระทั่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ต่อมาเปลี่ยนชื่อวัดศรีสว่างเป็น วัดโนนสว่าง และจำพรรษาอยู่จนปัจจุบัน

ตั้งแต่มาช่วยพัฒนาอารามแห่งนี้ก็เจริญ รุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ พระครูพิพัฒน์วิทยาคมก็ได้ใช้สรรพวิชาพุทธาคมที่ได้เล่าเรียนมาตั้งแต่เป็น สามเณรช่วยสงเคราะห์ชาวบ้านและพุทธศาสนิกชนทั่วไปตามกำลังที่มี ส่วน การสร้างวัตถุมงคลและปลุกเสกวัตถุมงคลนั้นได้ทำตามตำหรับวิชาผึ้งพันน้ำมัน หมื่น จนทำให้วัตถุมงคลเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ควรแก่การนำไปสักการะบูชา.

ขอบคุณข้อมูล เพจ ลูกศิษย์พระครูพิพัฒน์วิทยาคม – หลวงพ่อเจริญ ฐานยุตฺโต