แม้ยังไม่ได้แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา เพราะกำหนดไว้วันที่ 12- 13 ก.ย.ทำให้ฝ่ายบริหารยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามกฎหมาย แต่ความเคลื่อนไหวของของ”อุ๊งอิ๊ง”น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังต้องเกาะติดอย่างต่อเนื่องหลังแจกแจงแนวทางการทำงานภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ ไปเมื่อวันที่ 7ก.ย.รวมถึงการเตรียมการแถลงนโยบายรัฐบาล

ที่น่าสนใจคือนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล 10 ข้อ ที่กำหนดไว้ มีอยู่ 3 ข้อ ที่น่าจะเป็นประเด็นร้อนและสังคมคงนำไปวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางคือนโยบายที่สี่รัฐบาลจะสร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy)และเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษี ที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่าร้อยละ 50 ของGDP เพื่อนำไปจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษา สาธารณสุข และสาธารณูปโภครวมทั้งอุดหนุนค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานของประชาชน พร้อมทั้งจะปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

และนโยบายที่เจ็ด รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการสานต่อความสำเร็จในการปรับโครงสร้างการตรวจลงตราทั้งหมดของประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า เช่น กลุ่มผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) และกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานทางไกล (Digital Nomad) ซึ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 1,892 ล้านล้านบาท ในปี 2566 โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations) เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) นำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในประเทศไทย รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินมหาศาลที่จะกระจายลงสู่ผู้ประกอบการภายในประเทศได้อย่างรวดเร็ว

ซึ่งการผลักดันสถานบันเทิงครบวงจร (เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์) หนีไม่พ้นการอนุญาตให้เปิดกาสิโนถูกกฎหมาย ก่อนหน้านั้น ในสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เคยพยายามผลักดันเรื่องนี้ โดย”นายเศรษฐา” กล่าวเมื่อวันที่ 9 เม.ย. ว่า ที่ประชุมครม. รับทราบรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง ศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร หรือ กาสิโนถูกกฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย และเพื่อประโยชน์ ด้านเศรษฐกิจของประเทศ ของคณะกรรมาธิการ(กมธ. )วิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมายและเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ สภาผู้แทนราษฎรทั้งนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง รับศึกษาความเป็นไปได้รายละเอียดของคณะกมธ.วิสามัญพิจารณาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร หรือ กาสิโนถูกกฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมายให้นำมาเสนอต่อครม.ภายใน 30 วัน

ขณะที่เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา “นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ “ รมช.คลัง กล่าวถึงความคืบหน้าในการทำร่างกฎหมายสถานบันเทิงครบวงจร ว่ากระทรวงการคลังได้ทำประชาพิจารณ์ตัวร่างพ.ร.บ.เสร็จเรียบร้อยแล้ว และเข้าใจว่ามีคนที่เห็นชอบน่าจะสูงถึง 80% สิ่งที่เราทำก็เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ให้มีการแก้ไขปรับปรุงใหม่ก็คือ การจัดทำประชาพิจารณ์  โดยจะนำความคิดเห็นจากประชาพิจารณ์ ซึ่งมีหลายประเด็นที่ส่งความเห็นมา แล้วเป็นประเด็นที่น่าสนใจ  ก็จะนำไปปรับตามนั้น จากนั้นก็มีหน้าที่ ในการส่งเข้าสู่การพิจารณาของครม. โดยทุกพรรคร่วมรัฐบาลจะต้องมีการพูดคุยกัน ก่อนว่าโอเคหรือไม่ ถ้าพรรคร่วม และ ครม.เห็นชอบตรงกัน ก็ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างเพื่อส่งไปสภาฯ ไม่ได้รีบไม่ได้อะไร ขั้นตอนซึ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามกระบวนการขั้นตอน ดูว่าจังหวะเวลาไหนที่มีความเหมาะสมที่สุด

ก่อนหน้านั้นมีแถลงการณ์ จากนักวิชาการจำนวน 99 รายชื่อ ร่วมคัดค้าน”เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” โดยระบุว่า ตามที่สภาฯได้มีมติเห็นชอบรายงานการศึกษาของคณะกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาการ เปิดสถานบันเทิงครบวงจร เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย และเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ระหว่างการรอเสนอรายงานเพื่อขอมติต่อครม. เพื่อดำเนินการในลำดับต่อไป 

ขอแสดงความห่วงใยและเสนอแนะความเห็นต่อนายกฯและครม. ต่อเรื่องนี้ ดังต่อไปนี้การพนันไม่ถือเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ก่อให้เกิดผลผลิตเพราะเป็นเพียงการยักย้ายถ่ายโอนเงินจากกระเป๋าของผู้แพ้พนันไปสู่กระเป๋าของผู้ชนะพนัน ซึ่งในกรณีของกาสิโนนี้ผู้ชนะคือเจ้าของสถานกาสิโน การส่งเสริมให้มีกาสิโนจึงเท่ากับเป็นการสนับสนุน ให้กลุ่มทุนดูดซับเงินจากภาคครัวเรือน โดยเฉพาะครัวเรือนชั้นกลาง ผู้ใช้แรงงาน ผู้มีรายได้น้อย และชนชั้นล่างของสังคม  

แม้คณะกมธ.ฯ จะเสนอให้เริ่มต้นที่ไซส์ XL ก่อน แต่รายงานของคณะกมธ.ฯ ก็เปิดช่องให้สามารถมีแหล่งพนันที่มีขนาดเล็กรองลงมา ที่น่าจะเข้ามาเปิดใกล้ชุมชนมากขึ้น และลดกฎเกณฑ์ความเข้มงวดให้คนไทยได้เข้าเล่นง่ายขึ้น ถึงวันนั้นกาสิโนจะเป็นสิ่ง ถ่างขยายความเหลื่อมล้ำในสังคมให้มากขึ้น และซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่รัฐบาลพร่ำบอกมาตลอดว่ากำลังอยู่ในภาวะวิกฤต

แม้รัฐบาลอาจมองเห็นว่า การมีกาสิโน รวมถึงสถานบันเทิงครบวงจรอื่นๆ จะก่อให้เกิดการจ้างงาน การกระจายรายได้และการหมุนเวียนของเงินตราในระบบเศรษฐกิจ แต่หากนับเฉพาะส่วนของกาสิโนที่คณะกมธฯกล่าวว่ามีสัดส่วนเพียงร้อยละ 5 ของกิจการทั้งหมด  กิจการกาสิโนจึงอาจก่อให้เกิดผลดีต่างๆที่กล่าวมาได้ไม่มาก แต่อาจก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมที่รุนแรงากกว่า การได้ไม่คุ้มเสียจึงเป็นข้อห่วงใยที่สำคัญ  และกิจการอื่น ๆ ที่เป็นส่วนประกอบของสถานบันเทิงครบวงจร อาจจะเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่รัฐบาลพึงคาดหวังมากกว่า โดยอาจไม่จำเป็นต้องมีกาสิโนก็ได้ 

โดยนักวิชาการที่ร่วมลงชื่อคัดค้านนำโดย “ร.ศ.แล ดิลกวิทยรัตน์” คณะเศรษฐาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

ต้องรอดูว่าความพยายามผลักดันเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ จะผ่านความเห็นชอบจากพรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้งฝ่ากระแสคัดค้านจากคนในสังคมบางส่วนได้หรือไม่ อย่าลืมว่าประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ เงื่อนไขในการเข้าไปเล่นกาสิโนอย่างถูกกฎหมาย จะวางกฎกติกาไว้เข้มข้นมากแค่ไหน เพื่อป้องกันไม่ให้คนมีรายได้น้อยหรือรายได้ปานกลาง เข้าไปอยู่ในวงจรดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้เป็นบ่อเกิดของอาชญากรรม รวมทั้งการตั้งคำถามของพรรคร่วมฝ่ายค้าน และสว. ถึงนโยบายดังกล่าว จะเห็นด้วยหรือเห็นต่าง ในระหว่างการแถลงนโยบายรัฐบาล

ส่วนนโยบายที่ห้า รัฐบาลจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย และเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก และผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และพัฒนาศูนย์ข้อมูลภาครัฐ ที่มุ่งการพัฒนานโยบายที่ตอบสนองความต้องการของ

ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนแล้ว หลัง”นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร” ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ในกรณีที่ “นายเผ่า ภูมิโรจนสกุล” รมช.คลัง ระบุว่าการแจกดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะดำเนินการในแจกให้กลุ่มเปราะบาง เดือน ก.ย.67 ว่าหากมีการเปลี่ยนชื่อโครงการก็ไม่กระทบ โครงการดิจิตอลวอลเล็ต เนื่องจากอยู่ในวัตถุประสงค์กระตุ้นเศรษฐกิจอยู่แล้ว

ส่วนการปรับเปลี่ยนชื่อของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล ที่จะแถลงต่อรัฐสภา โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้เขียนไว้ในงบกลาง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อได้ครม.ชุดใหม่ และมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว ก็จะสามารถใช้งบใช้งบกลาง ปี 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท มาใช้แจกเงินได้ทันที ในเดือนก.ย.67 โดยไม่มีปัญหาใดๆ 

ขณะเดียวกันระยะต่อไปก็ต้องรองบประมาณปี 68 ที่จะนำมาใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในห้วงเวลาต่อไปเงินดิจิทัล 10,000 บาท กลุ่มคนสมาร์ตโฟนเปิดลงทะเบียน และกดรับสิทธิผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ตั้งแต่วันที่ 1ส.ค.67 – 15 ก.ย.67 

เชื่อได้เลยว่า โครงการแจกเงินหมื่น จะเป็นประเด็นที่แกนนำพรรคฝ่ายค้านอย่าง “ประชาชน(ปชน)”ตั้งคำถาม โดยเฉพาะการนำงบประมาณมาใช้ในโครงการ จะนำมาจากไหนภาระผูกพันที่เกิดขึ้นกับประเทศ จะสร้างปัญหาในระยะยาวหรือไม่

แต่ที่อาจเป็นปัญหา ก่อนที่จะถึงวันอภิปรายนโยบายรัฐบาลคือ ท่าทีของคณะกรรมการประสานงาน(วิป) รัฐบาล จากการเปิดเผยของ” นายวิสุทธ์ ไชยณรุณ” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ออกมาระบุว่า ในวันที่ 9 ก.ย. เวลา10.00น. จะมีการประชุมวิป 3 ฝ่าย ได้แก่ วิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา เพื่อหารือถึงกรอบเวลาการอภิปราย การแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของครม.น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 12-13ก.ย.นี้ หวังว่าจะหารือเวลาอภิปรายลดลงจากเดิมที่เคยได้เวลา 31 ชั่วโมง ในการอภิปราย 2 วัน ซึ่งเห็นว่าเป็นระยะเวลาที่นานไป

เพราะส่วนใหญ่เป็นนโยบายเดิมที่สานต่อจากรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน โดยมีเรื่องใหม่เข้ามาบ้าง ก็จะเจรจาปรับลดเวลาอภิปรายลงเพื่อให้ครม. เข้าไปปฏิบัติหน้าที่โดยโดยเร็ว ในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน หลังจากที่ตกลงเวลากันได้ ก็จะแบ่งเวลาให้ทั้ง 3 ฝ่ายอย่างเหมาะสม เชื่อว่าจะได้รับความร่วมมือจากทั้งฝ่ายค้าน และวุฒิสภา อาจจะปรับลงมา ที่เคยได้เวลาไป 14 ชั่วโมง อาจจะปรับเหลือเป็น 10 ชั่วโมง หรือ 12 ชั่วโมง เพื่อเร่งรัดการแถลงนโยบายให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ รัฐมนตรีจะได้มีพลัง มีเวลาไปดูแลปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ที่จะต้องไปรีบดำเนินการ เมื่อถามว่า  ทางฝ่ายค้านตั้งเป้าการอภิปรายครั้งนี้ว่าจะดุเดือดเข้มข้น  ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ไม่มีดุเดือด เพราะครั้งนี้เป็นการอภิปรายแถลงนโยบาย ไม่ใช่การอภิปรายงบประมาณ หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ดังนั้นจะอภิปรายนโยบายควบการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ได้ มันคนละส่วนกัน 

ต้องรอดูท่าทีของพรรคฝ่ายค้าน ที่นำโดย”ปชน.” เพราะมีจัดเตรียมขุนพลไว้อภิปรายประมาณ 30-40 คน โดย”ไหม”น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคปชน. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมอภิปรายการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่า น่าจะดุเดือด เพราะรัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาลใหม่ถอดด้าม แต่สืบทอดมาจากรัฐบาลที่แล้ว ยังเป็นรัฐบาลพท. อยู่จึงจะมีกลิ่นอายการตรวจการบ้าน 1 ปี ของนโยบายที่เคยแถลงไว้ รวมถึงทวงถามสัญญาที่เคยมีไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง หรือการพูดนโยบายในต่างกรรมต่างวาระ ช่วง 1 ปีที่ผ่านมาและความคาดหวังว่าประเทศจะเดินหน้าไปอย่างไร ในอีก 3 ปีข้างหน้า ดังนั้น อาจจะมีความดุเดือดเล็กน้อย เพราะเราผิดหวังการทำงาน 1 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน

“ทีมข่าวการเมือง”