ที่หอประชุมโรงเรียนชุมชนหนองสอวิทยาคาร ต.ลำปาว อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ นายวิรัช พิมพะนิตย์ สส.กาฬสินธุ์ เขต 1 กรรมาธิการ คณะกรรมาธิการการเงิน การคลังสถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานเปิดการสัมมนา เรื่อง “แนวทาง การบริหารจัดการระบบการเงิน และการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร” โดยมีนายทินพล ศรีธเรศ สส.กาฬสินธุ์ เขต 5 นายณัฐวัชต์ พิมพะนิตย์ รองประธานสภา อบจ.กาฬสินธุ์ และสจ.เขตอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ประชาชนและพี่น้องเกษตรกรเข้าร่วมกิจกรรม และมีวิทยากรจาก ธ.ก.ส.มาให้ความรู้
นายวิรัช พิมพะนิตย์ สส.กาฬสินธุ์ เขต 1 กรรมาธิการ คณะกรรมาธิการการเงิน การคลังสถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนคนไทย โดยเฉพาะเกษตรกรที่เป็นคนฐานรากและเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ประสบกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง เนื่องมาจากผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา และสถานการณ์ความขัดแย้ง ทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจ ตลอดจนสภาวะการผันผวนของราคาน้ำมันโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงปัจจุบันเกษตรกรมีรายได้ลดลง แต่ค่าใช้จ่ายกลับเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งต้นทุนการผลิตของเกษตรกรที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้นตามไปด้วย
นายวิรัช กล่าวต่อว่า นอกจากนี้จากข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ภาวะหนี้สินของประชาชนคนไทยมีหนี้ครัวเรือนในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง และส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และประชาชนไม่มีความสามารถในการจ่ายชำระหนี้คืนได้ อีกทั้งประชาชนและครัวเรือนเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้หรือความเข้าใจการจัดการ ระบบการเงินของครัวเรือน เช่น การบริหาร จัดการหนี้ ดอกเบี้ย การออมในระบบการเงิน และยังขาดความรู้ ความเข้าใจต่อแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าว
นายวิรัช กล่าวอีกว่า ทางคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงจัดสัมมนาเรื่อง แนวทางการบริหารจัดการ ระบบการเงิน และการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรขึ้น เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และให้เห็นถึงความสำคัญของการมีความรู้พื้นฐานทางการเงิน การบริหารจัดการทางการเงิน ให้มีความเพียงพอต่อการดำเนินชีวิต โดยยึดแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินชีวิตในสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และเกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้อย่างเหมาะสมต่อไป