วันนี้ทุกภาคส่วนกำลังระดมสรรพกำลังเร่งปราบปราม ปลาหมอคางดำ อย่างบูรณาการ ที่ผ่านมาจึงเห็นความสำเร็จของหลายจังหวัดที่ปริมาณปลาหมอคางดำลดลง เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม

นายกอบศักดิ์ เกตุเหมือน ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช ย้ำถึงการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และเดินหน้าแก้ปัญหามาโดยตลอด ทำให้แนวทางการจำกัดปลาหมอคางดำที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนั้น ปรากฎผลสามารถกำจัดปลาในแหล่งน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ แหล่งน้ำหลายแห่งมีปลาหมอคางดำน้อยลง ซึ่งจังหวัดมีแผนเตรียมปล่อยปลานักล่าลงแหล่งน้ำกวาดล้างอีกระลอก เพื่อช่วยกำจัดลูกปลาหมอคางดำในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้

ความสำเร็จดังกล่าวนี้ เกิดจากความร่วมมือและความพยายามของทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งประมงจังหวัดในฐานะผู้ดูแลรับผิดชอบโดยตรง ที่ประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ชาวชุมชน และเกษตรกรในพื้นที่ ในการเร่งจับปลาหมอคางดำที่พบในแหล่งน้ำต่างๆอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ปากพนังและหัวไทร ด้วยกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” ตามนโยบายของ นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง โดยเดินสายจัดกิจกรรมขึ้นในคลองสายต่างๆ จับปลาหมอคางดำส่งต่อให้กับโครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ผ่านมาจับปลาเข้าโครงการแล้วกว่า 21 ตัน โดยในเดือนกันยายนนี้ ประมงนครศรีธรรมราช จะจัดสรรงบเพิ่มเติมสำหรับใช้จัดซื้อปลาหมอคางดำกิโลกรัมละ 15 บาท สำหรับส่งให้สำนักงานพัฒนาที่ดินสำหรับผลิตน้ำหมักชีวภาพและนำไปแจกจ่ายให้เกษตรกร ซึ่งคาดว่าจะช่วยกำจัดปลาได้อีกกว่า 18 ตัน เท่ากับว่าจะมีจำนวนปลาเข้าโครงการฯทั้งสิ้นเกือบ 40 ตัน

ในส่วนของลำคลองอื่นๆ ที่อาจพบปลาหมอคางดำอยู่บ้าง ดังเช่นกรณีที่พบปลาในบ่อน้ำทิ้งตามลำคลองและชายหาดที่บ้านบางหลุมพอง ตำบลขนาบ อำเภอปากพนัง เมื่อสำรวจแล้วพบว่าเป็นปลาที่กระจายอยู่ภายนอกพื้นที่สถานประกอบการบ่อกุ้ง ที่มีการเล็ดรอดเข้าท่อร้างที่ปิดตายและไม่ได้ใช้มานานแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช และเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่สถานประกอบการ ปรากฎว่าไม่พบปลาหมอคางดำ พบเฉพาะปลาสีกุนและปลาหมอเทศเท่านั้น

จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงถือเป็นอีกหนึ่งโมเดลความสำเร็จ จากความมุ่งมั่นในการสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ในการจัดการปลาหมอคางดำ โดยมุ่งนำออกไปจากแหล่งน้ำธรรมชาติให้ได้มากที่สุด ควบคู่กับการสร้างความตระหนักให้ชาวชุมชน เยาวชน รวมถึงประชาชนชาวนครศรีฯ ได้ทราบถึงปัญหาและร่วมมือกันป้องกันการแพร่พันธุ์ของปลาชนิดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังดำเนินการควบคู่กับการส่งเสริมการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุด โดยเฉพาะการทำน้ำหมักชีวภาพ และการแปรรูปเป็นอาหารเมนูต่างๆ เพราะมีคุณค่าทางอาหารและมีประโยชน์เช่นเดียวกับปลาชนิดอื่นๆ จึงควรผลักดันให้เกิดการนำไปบริโภคในครัวเรือน รวมถึงแปรรูปเพื่อจำหน่ายต่อไป ทั้งหมดนี้ถือเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาและช่วยหยุดยั้งการกระจายพันธุ์ของปลาชนิดนี้ที่สามารถดำเนินการได้ด้วยความร่วมมือของทุกคน