จากกรณีข่าวชายวัย 60 ปี เสียชีวิตด้วย “โรคพิษสุนัชบ้า” โดยลูกชายให้ประวัติว่า พ่อถูกสุนัขที่เลี้ยงไว้กัด เมื่อ 2-3 ปี ก่อน โดยไม่ได้ไปหาหมอ ต่อมาช่วงต้นปี 2567 สุนัขที่เลี้ยงไว้ 5 ตัว ทยอยตายด้วยอาการชักเกร็งและมีน้ำลายฟูมปาก ตามที่ข่าวเสนอไปก่อนหน้านี้
หนุ่มใหญ่วัย60ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า ลูกๆถือเค้กวันเกิดเป่าหน้าโลงศพ
เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้พูดถึงเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “หมอหมู วีระศักดิ์” ได้ออกมาโพสต์ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยใหม่ว่า “อย่าชะล่าใจ สุนัขเลี้ยงกัด หรือข่วน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษา”
โดยวิเคราะห์ มีดังนี้
- ผู้ตายอาจได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าจากการถูกกัด เมื่อ 2-3 ปี ก่อน คือ ระยะเวลาที่เชื้อพิษสุนัขบ้าอยู่ในร่างกายมนุษย์ก่อนแสดงอาการแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยทั่วไปแล้ว ระยะฟักตัวของโรคพิษสุนัขบ้าจะอยู่ที่ประมาณ 3-8 สัปดาห์ แต่ก็อาจสั้นลงเหลือเพียงไม่กี่วัน หรือยาวนานถึงหลายปีได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น
ก. ตำแหน่งที่ถูกกัด คือ หากถูกกัดบริเวณที่ใกล้ระบบประสาท เชื้อจะเดินทางไปถึงสมองได้เร็วขึ้น ทำให้ระยะฟักตัวสั้นลง
ข. ความรุนแรงของบาดแผล คือ หากบาดแผลมีความลึกและกว้าง ก็จะทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น
ค. ปริมาณเชื้อที่ได้รับ หากปริมาณเชื้อที่ได้รับมีน้อยก็อาจทำให้อาการแสดงของผู้ป่วยชะลอออกไปอีกนาน
ง. ภูมิต้านทานของร่างกาย ในผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว อาจมีระยะฟักตัวที่สั้นลง
นอกจากนี้ ในกรณีดังกล่าวนี้ อาจมีความเป็นไปได้ที่บาดแผลถูกสุนัขกัดไม่รุนแรง และไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่ใกล้ระบบประสาท รวมถึงปริมาณเชื้อที่ได้รับอาจไม่มาก และร่างกายผู้ถูกกัดมีภูมิต้านทานดี จึงทำให้อาการแสดงของโรคพิษสุนัขบ้าชะลออออกไปได้เป็นปี
- ผู้ตายอาจได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าผ่านการสัมผัสเมื่อช่วงปลายปี 66 หรือต้นปี 67 คือ พิษสุนัขบ้าสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง โดยหลัก ๆ ได้แก่
ก. การถูกสุนัขกัดหรือข่วน คือ เชื้อไวรัสในน้ำลายของสุนัขที่ติดเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผลที่ถูกกัดหรือข่วน
ข. การสัมผัสน้ำลายของสุนัขที่ติดเชื้อ คือ น้ำลายที่กระเด็นเข้าบาดแผลหรือรอยถลอกบนผิวหนัง
ค. การถูกสุนัขเลียบริเวณเยื่อบุตา จมูก หรือปาก คือ สุนัขที่ติดเชื้อเลียบริเวณที่มีเยื่อเมือก เช่น ตา จมูก หรือปาก
สำหรับในกรณีดังกล่าวนี้ อาจมีความเป็นไปได้ที่ลูกชายไม่ทราบว่าพ่อถูกสุนัขกัดเมื่อช่วงปลายปี 2566 หรือต้นปี 2567 หรือพ่ออาจไม่ถูกสุนัขกัด แต่อาจสัมผัสน้ำลายสุนัขที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า หรือถูกสุนัขที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า เลียบริเวณเยื่อบุตา จมูก หรือปาก และไม่ได้ไปหาหมอ ดังนั้นหากท่านใดถูกสุนัขกัดหรือข่วน หรือสัมผัสกับสุนัขที่สงสัยว่าติดเชื้อพิษสุนัขบ้า ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษาและฉีควัคซีนป้องกันพิษสุนัชบ้า
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้งหมดที่หมอหมูนำเสนอมีการอ้างอิงแหล่งที่มาชัดเจน และได้พยายามอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่บางครั้งอาจมีการโต้แย้งในข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องปกติในแวดวงวิชาการ ดังนั้นจึงขอเรียนทุกท่านว่า โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบทความของหมอหมู และควรหาข้อมูลเพื่มเติมเพื่อความถูกต้องอีกครั้ง
ขอบคุณข้อมูล : หมอหมู วีระศักดิ์