เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่วิชชาลัยบาติกโมเดล จังหวัดปัตตานี (อาคารชั่วคราว) ถนนสฤษดิ์ ตำบลสะบารัง อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานเปิดป้าย วิชชาลัยบาติกโมเดล จังหวัดปัตตานี (อาคารชั่วคราว) ตามแนวพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “โครงการผ้าไทยให้สนุก” โดยมี นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายอำนาจ ชูทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายสนั่น สนธิเมือง นายชูชีพ ธรรมเพชร นายไชยพร นิยมแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายวิฑูรย์ นวลนุกูล นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางวาสนา นวลนุกูล รองประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ 12 อำเภอ ดร.ยงยุทธ สุวรรณบุตร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา นางอรัญญา สุวรรณบุตร นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา พร้อมได้รับเกียรติจากคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ได้แก่ ดร.ศรินดา จามรมาน นักวิชาการอิสระ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย นายศิริชัย ทหรานนท์ เจ้าของแบรนด์ THEATRE นายภูภวิศ กฤตพลนารา เจ้าของแบรนด์ ISSUE ดร.กรกลด คำสุข และ ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มศว. นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ช่างต้นแบบสิ่งทอ ดร.นวัตกร อุมาสิน อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย และภาคีเครือข่าย ร่วมในงานด้วย
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และคณะ ร่วมกันเปิดป้ายวิชชาลัยบาติกโมเดล จังหวัดปัตตานี (อาคารชั่วคราว) ตามแนวพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “โครงการผ้าไทยให้สนุก” พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการการขับเคลื่อนบาติกโมเดลตามพระดำริฯ และปลูกต้นตะเคียนทอง ไม้มงคลประจำจังหวัดปัตตานี ไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดใหญ่ ซึ่งมีสรรพคุณทางยา เช่น แก่น ที่มีรสขมอมหวาน ช่วยแก้โลหิตและกำเดา ขับเสมหะ แก้อาการปวดฟัน แก้เหงือกบวม เป็นต้น พร้อมรับฟังการขับร้องบทเพลงความดีอยู่เหนือสิ่งอื่นใด โดยนายสมชาย นิลศรี และน้องพอเพียง นิลศรี และนำผู้ร่วมงานร่วมร้องเพลง Happy Birthday to you มอบให้กับน้องพอเพียงเนื่องในวันคล้ายวันเกิด
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีที่ได้เป็นผู้นำการสนองพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการที่ทำให้พี่น้องชาวจังหวัดปัตตานีและชาวไทยทุกจังหวัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีโอกาสที่ดีของชีวิต ด้วยการได้รับการยกระดับพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่มาจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษส่งผ่านมาถึงรุ่นปัจจุบัน เพื่อให้เป็นเครื่องไม้เครื่องมือในการประดิษฐ์คิดค้นและรังสรรค์งานผ้าบาติก งานผ้าไทยและงานหัตถกรรมของประชาชนในทุกจังหวัด
“พระองค์ทรงเพียรพยายามในการที่จะให้พวกเราผู้เป็นข้าราชการและพสกนิกรที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ อันประกอบด้วย คนมหาดไทยและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ช่วยกันนำเอาสิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์อันจะหนุนเสริมให้เกิดอย่างยั่งยืน คือ “ความรู้และปัญญา” เพื่อเป็นรากฐานสำคัญของการที่พวกเราจะมีโอกาสทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีที่เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน ครอบครัว สังคมและประเทศชาติของพวกเรา จึงเป็นเหตุให้พระองค์ท่านเสด็จมาทรงงานทางภาคใต้ ทั้งปัตตานีและนราธิวาส พร้อมพระราชทานลายผ้าบาติกมากถึง 8 ลาย เรียกได้ว่าภาคใต้เป็นภาคที่ได้รับพระราชทานลายผ้ามากที่สุด เพราะพระองค์ทรงทราบว่า “คนใต้มีความรักความหวงแหนผืนแผ่นดินไทย และภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ” และที่สำคัญที่สุดเป็นภาคที่มีผลิตภัณฑ์อันมาจากภูมิปัญญาของตนเองในราคาที่ย่อมเยาเข้าถึงได้ ซึ่ง “กลุ่มยาริงบาติก” ภายใต้การนำของนางฮัสสือเม๊าะ ดอมะ ประธานกลุ่ม นับเป็นบ้านหลังแรก ๆ ของประเทศนี้ที่ได้รับพระกรุณาคุณจากพระองค์ท่านเสด็จไปทรงเยี่ยมและทอดพระเนตรผลงานที่อยู่ใต้ถุนบ้าน ซึ่งแม้ไม่ใช่คฤหาสน์ใหญ่โตหรือเป็นบ้านขนาดใหญ่ที่มีความมั่นแข็งแรงอะไรมากนัก แต่เป็นบ้านที่มีความอบอุ่นด้วยความรักความเมตตา ทั้งของเจ้าของบ้านที่มีต่อลูกหลานในชุมชน และอบอวลไปด้วยน้ำพระทัยแห่งพระกรุณาคุณที่ทรงมีแต่ความรักพสกนิกรของพระองค์ เรียกได้ว่า “สันติสุขที่เกิดจากความรักความหวังดีที่แจ่มใสจากพระกรุณาคุณ ทำให้ชีวิตของสมาชิกในกลุ่มยาริงบาติก และผู้สนใจ เข้ามาเรียนรู้ในการทำผ้าบาติกเพิ่มมากขึ้นจนสุดจะประมาณ” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีทำให้ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้เป็น “ศูนย์เรียนรู้บาติกจังหวัดปัตตานีที่ถาวร” เพราะอาคารหลังนี้มีคุณค่าและเกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งเป็นสถาปัตยกรรมของไทยในยุคหนึ่ง ซึ่งหาดูได้ยากในปัจจุบัน โดยมีพวกเราทุกคนช่วยกันทำให้เป็นอาคารถาวร ช่วยกันทำให้เป็น “ศูนย์เรียนรู้ ศูนย์การค้าที่มั่นคง ถาวร และยั่งยืน” ตามเป้าหมายที่ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีได้ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ร่วมกับสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิด “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน” เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มมีโอกาสที่ดีของชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน ขับเคลื่อนสนองน้ำพระทัยอันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา ด้วยความรักความห่วงใยของพระองค์ ทำให้ประชาชนมีโอกาสเรียนรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์จริง ใช้พรสวรรค์ผสมกับความรู้และประสบการณ์ พัฒนาชิ้นงานในการรับใช้คนทั้งโลกในอนาคตอันใกล้
“คุณูปการของพระองค์ท่านนั้นมีมากเหลือคณาจนหาที่สุดมิได้ เพราะพระองค์ทรงงานอยู่บนหลักการของการสืบสาน รักษา และต่อยอด ซึ่งการสืบสานและรักษา นั้น คือ การช่วยกันทำให้สิ่งที่มีอยู่เดิมยังคงอยู่ แต่การสืบสาน รักษาต้องเท่าทันการเปลี่ยนผันตามวันและเวลาที่ก้าวเดินไม่หยุดยั้ง และเราก็จะมีคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้น “การต่อยอด” จึงมีความจำเป็น โดยเฉพาะกับสิ่งที่เราเรียกว่า แฟชั่น เพราะบาติกคือแฟชั่น ที่จะต้องมีทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ตรงตามความสนใจและความต้องการของผู้คนทุกรุ่น ดังนั้น เป้าหมายของการทำให้ภูมิปัญญาผ้าไทยและหัตถกรรมไทยมีความยั่งยืน ต้องน้อมนำแนวทางที่พระองค์พระราชทานให้นำลวดลายดั้งเดิมมาผสมกับลวดลายใหม่ และต้องมีเรื่องที่สำคัญอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ 1. ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2. ต้องออกแบบตัดเย็บให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับความชอบของคนทุกช่วงวัย และ 3. ต้องเลือกใช้สีที่สอดคล้องกับสมัยนิยม ดังที่พระองค์พระราชทาน “Thai Textiles Trend Book” ซึ่งทรงค้นคว้าแนวโน้มแฟชั่นโลก และพระราชทานให้กับพวกเราคนไทยถึง 5 ปี ซึ่งในปีนี้เป็นปีที่ถือว่าเป็นความท้าทายของคนมหาดไทย เพราะคนมหาดไทยได้รับความไว้วางพระทัย ให้เป็นผู้นำ เอา knowhow ใน Thai Textiles Trend Book ไปสู่พี่น้องประชาชน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ ยังได้ฝากถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ช่วยนำพาความรัก ความเมตตาของพระองค์ท่านไปสู่พี่น้องประชาชน เพื่อให้ปีหน้า และปีต่อ ๆ ไป เราจะมีผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ผ้าบาติก และผ้าทุกชนิด ที่มีสีสันต้องกับจริตผู้คน สอดคล้องกับแฟชั่นในแต่ละสมัย ที่อาจจะทำให้คนมหาดไทยต้องทำงานหนักขึ้น ด้วยการทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุข มีรายได้ที่ดีเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นปฏิบัติบูชา ถวายเป็นพระกำลังใจ โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ขอให้ได้ทำให้ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้เป็น Landmark ให้ผู้คนเข้าถึงการเรียนรู้ การหาประสบการณ์ และอุดหนุนผลิตภัณฑ์ของคนปัตตานี รวมถึงพี่น้องทั่วประเทศ เพราะเป้าหมายของเราคือ “คนไทยทุกคน” รองรับความต้องการในด้านการเสาะแสวงหาองค์ความรู้และประสบการณ์และสิ่งดี ๆ ของชีวิตได้ทุกจังหวัด ทุกภูมิภาค โดยไม่หวงวิชา เป็นศูนย์กลางของคนทั้งประเทศในการเรียนรู้ซึมซับความดีงามของคนปัตตานีไปพัฒนาชีวิตตนเองในทุกด้าน
“ความปรารถนาที่ดีเหล่านี้จะเป็นเพียงสายลมที่พัดผ่านไป ถ้าหากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ท่านนายอำเภอ พี่น้องข้าราชการ ตลอดจนถึงภาคีเครือข่าย ไม่ลงมือทำโดยทันที แต่ตนมั่นใจว่าทุกคนมีความมุ่งมั่นที่จะ ทำให้เกิดรูปธรรมให้กับคนไทยทุกคน ดังที่พระองค์ท่านได้ทรงทำเป็นต้นแบบ ก็จะส่งผลโดยตรงต่อการบรรลุภารกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของพวกเราทุกคน และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เป็นการปฏิบัติบูชาถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ด้วยการทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข ด้วยการแก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย
ด้านนางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า จังหวัดปัตตานี โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดปัตตานี ร่วมกับโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จัดตั้ง “วิชชาลัยชุมชนบาติกโมเดล” (อาคารชั่วคราว) ณ บ้านพักปลัดจังหวัดปัตตานี (หลังเดิม) ตรงข้ามสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี ถนนสฤษดิ์ ตำบลสะบารัง อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในการแนะนำ ให้คำปรึกษา ตลอดจนเป็นศูนย์ฝึกอบรมให้ความรู้สำหรับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย นักเรียน นักศึกษา เยาวชนรุ่นใหม่ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการรักษาสมบัติทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะศิลปหัตถกรรมทอผ้า รวมไปถึงผ้าบาติกของจังหวัดปัตตานีและภาคใต้ ผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นที่ร่วมสมัย และคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์ท้องถิ่น การเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และการบอกเล่าเรื่องราวประจำภูมิภาค ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการต่อยอด สร้างสรรค์ชิ้นงานเพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ สร้างวิถีชีวิตที่ดีให้กับตนเอง ครอบครัวและชุมชน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน