เมื่อวันที่ 7 ก.ย. นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร ประธานเปิดการฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2567 โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) ร่วมประชุม ณ อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม.2 (ดินแดง) เพื่อซักซ้อมในหน้าที่ความรับผิดชอบและหลักในการปฏิบัติของแต่ละหน่วยงานตามสถานการณ์สาธารณภัยที่กำหนด

ซึ่งในครั้งนี้ ได้จำลองเหตุการณ์การเกิดเพลิงไหม้จากรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และลุกลามรถยนต์ที่จอดอยู่ข้างเคียงจำนวนหลายคันจนเกิดการระเบิด บริเวณลานจอดรถใต้ดิน อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม.(ดินแดง)

ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวย้ำเรื่องการฝึกซ้อมของแต่ละหน่วยที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในวันนี้ ให้กระทำเสมือนจริง และไม่ลืมที่จะเก็บข้อมูลแต่ละจุดอย่างเข้มข้น เพื่อนำกลับมาถอดบทเรียน อุดช่องโหว่ปัญหาทุกมิติ ย้ำทุกคนทำหน้าที่ของตนเองให้เต็มที่ คิดว่าเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงๆ เราจะต้องทำอย่างไร ด้วยความมั่นใจ ด้วยความพร้อม รวดเร็ว ฉับไว และประสานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างครบถ้วน 

กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2567 โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานกรุงเทพมหานครและภาคีเครือข่าย เข้าร่วมการซ้อม เพื่อสร้างความเข้าใจในบทบาทและการปฏิบัติตนตามขั้นตอนอย่างถูกต้องเมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 


โดยจัดการอบรมให้ความรู้แก่ผู้เกี่ยวข้องจำนวน 2 ครั้ง การฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ (TTX) และได้กำหนดการฝึกซ้อมเฉพาะหน้าที่ (Functional Exercise) และการฝึกซ้อมเสมือนจริง (Full Scale Exercise) ในวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน 2567 ณ อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม. (ดินแดง) ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร ได้เข้าใจกระบวนการจัดการสาธารณภัย การปฏิบัติการเผชิญเหตุ ระยะเวลาของกระบวนการปฏิบัติ กระบวนการในการถ่ายทอดสัญญาณให้ผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขต ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์เมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยได้เห็น

เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยในพื้นที่ของตน และภายหลังการฝึกซ้อมเสร็จสิ้น จะมีการสรุปและประเมินผลโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และสำนักงานยุทธศาสตร์การป้องกันสาธารณภัย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อประเมินมาตรฐานการปฏิบัติ หาข้อบกพร่อง จุดอ่อน นำไปแก้ไขและพัฒนาประสิทธิภาพให้ดีขึ้นต่อไป.