เมื่อวันที่ 7 ก.ย. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เปิดเผยถึงข้อเสนอจากกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือนายจ้างกรณีขึ้นค่าแรง 400 บาทในช่วงเดือนต.ค. 2567 ว่า กระทรวงแรงงานได้รับข้อหารือจากผู้ประกอบการ และจากการศึกษาของคณะอนุกรรมการที่ทางกระทรวงแรงงานตั้งขึ้นมา โดยปลัดกระทรวงแรงงานได้รายงานมา เรายังยืนยันที่จะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้งประเทศพร้อมกันในวันที่ 1 ต.ค. 2567 ที่ 400 บาท โดยจะไปดูในเรื่องของไซส์แอล คือจะเอาเกณฑ์ที่มีสถานประกอบการที่มีผู้ใช้แรงงานหรือมีการจ้างแรงงานไม่น้อยกว่า 200 คนขึ้นไปซึ่งปลัดกระทรวงแรงงานจะนําไปหารือกับทางสภาพัฒน์ แล้วไปหารือกับกระทรวงการคลังอีกครั้งหนึ่ง

รมว.แรงงาน กล่าวว่า จากการหารือระหว่างตน ปลัดกระทรวงแรงงาน และเลขาธิการประกันสังคม ได้ข้อสรุปเฉพาะของประกันสังคมว่า จะมีมาตรการเยียวยาให้กับผู้ประกอบการ ที่มีแรงงานในบริษัทมากกว่า 200 คนขึ้นไป โดยลดการนําส่งสําหรับนายจ้าง 1% ตั้งแต่เดือนต.ค. พ.ศ.2567 ไปจนถึงเดือนก.ย.ปี 2568 เป็นเวลา 12 เดือน รวมถึ

ส่วนในของ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  SMEs ซึ่งเมื่อมีลูกจ้างต่ำกว่า 200 คน เราจะไม่ไปกระทบ แต่จะต้องหาวิธีการว่าจะทําอย่างไรให้ SMEs ซึ่งถือครองผู้ใช้แรงงานมากกว่า 90% ให้ยืนต่อไปได้ จนกว่าเราจะมีภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นไปกว่านี้ มั่นใจว่าการที่มีรัฐบาลใหม่ โดยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งในความเป็นคนรุ่นใหม่ เชื่อในความคิดใหม่ๆ ของผู้นําท่านใหม่ว่าสามารถที่จะพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยเราไปได้

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานจะเสนอให้กระทรวงการคลังไปดูมาตรการต่างๆ ว่าเมื่อ พ.ศ.2555 ในสมัย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีการประกาศค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไปที่ 300 บาทว่ามีมาตรการทางกระทรวงการคลัง ช่วยเหลือผู้ประกอบการบ้าง เราจะหารือกระทรวงคลังและนํามาปฏิบัติอีกครั้ง และจะนําเสนอว่าจากการที่คุณขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะเอาส่วนที่เกินก่อนหักภาษี 1.5 เท่า มาเป็นค่าใช้จ่ายก่อนหักภาษี เพื่อช่วยผู้ประกอบการในการบรรเทาเรื่องการชําระภาษี ส่วนมาตรการอื่นๆ คงจะต้องให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาและประกาศออกมาอีกครั้งหนึ่ง

นายพิพัฒน์ กล่าวถึงมาตรการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการด้วยว่า ได้หารือกับปลัดกระทรวงแรงงาน และเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะพิจารณาเอาเงินก้อนหนึ่งเข้าไปเพื่อผ่านสถาบันการเงินของรัฐ ในการที่จะไปปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการเพื่อเสริมสภาพคล่อง บรรเทาในสิ่งต่าง ๆ เท่าที่เราคิดว่าเราทําได้ แต่เป็นเงินจํานวนเท่าไหร่ ต้องขอหารือกันอีกครั้งว่าภาพรวมผู้ที่จะเข้ามา และผู้ที่ขาดสภาพคล่องที่ต้องการความช่วยเหลือนั้นเป็นวงเงินเท่าไหร่ ทางกระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคมเราพร้อมให้การสนับสนุน เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งกระทรวงแรงงานเราไม่สามารถที่จะให้ทางผู้ประกอบการกู้ยืมเป็นทางตรงได้ แต่เราจะประสานงานกับสถาบันการเงิน และให้สถาบันการเงินเป็นผู้ให้กู้อีกชั้นหนึ่ง โดย สถาบันการเงินเป็นผู้พิจารณา ครั้งสุดท้าย ว่าสถานประกอบการเหล่านั้นเหมาะสมที่จะได้รับการสนับสนุนในวงเงินกู้รายละเท่าไหร่

นายพิพัฒน์ กล่าวถึง มาตรการลดภาษีในกรณีที่มีการฝึกอบรมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งในปี 2567 มีการอบรมสัมมนาผ่านสถานประกอบการใกล้เคียงคือ 4 ล้านตําแหน่ง ตรงนี้เราจะมีมาตรการเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่เกิดจากสถานประกอบการ สามารถนํามาหักภาษีหรือลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งมาตรการต่างๆ คงจะมีหลายรูปแบบ เชื่อว่าผู้ประกอบการทุกท่านที่มีการจัดอบรมไปพร้อมกับกรมพัฒนาฝีมืองานแรงงานทราบดีอยู่แล้ว 

นายพิพัฒน์ เปิดผยว่า ได้เข้าหารือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเสนอมาตรการช่วยผู้ใช้แรงงาน เพราะเมื่อมีการประกาศค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไปที่ 400 บาท ในวันที่ 1 ต.ค.2567 เป็นต้นไป สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือราคาสินค้าก็จะทยอยขยับตัวตามค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไปซึ่งเราจะเห็นทุกครั้งที่มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งตรงนี้ได้หารือว่าเราขอใช้โครงการธงฟ้าของกระทรวงพาณิชย์ ในการที่จะนําสินค้าต่างๆ ออกขายตามจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์พร้อมที่จะร่วมมือและสนับสนุนในการไปออกโครงการธงฟ้าทุกจังหวัดที่เรานําเสนอไปให้

“ทั้งหมด 7 ข้อนี้เป็นข้อเสนอที่มองว่าจะสามารถช่วยทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงาน ผมจึงจะเสนอมาตรการเหล่านี้ให้หน่วยงานทั้งในส่วนของกระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ฯ และกระทรวงพาณิชย์ ให้พิจารณา” รมว.แรงงาน กล่าว