พญ.วิริยาภรณ์ จันทร์รัชชกูล อนุสาขากุมารเวชศาสตร์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช กล่าวถึงโรคหัด ว่า หลายคนอาจคิดว่าโรคหัดจะเป็นโรคที่พบได้เฉพาะเด็กเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว โรคหัดสามารถเป็นได้ทุกคน ทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เป็นโรคที่สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ติดต่อจากระบบทางเดินหายใจ โรคหัดจะมีอาการรุนแรงมากกว่าโรคไข้หวัดทั่วไป ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เป็นอันตรายอาจส่งผลให้พิการหรือเสียชีวิตได้

กลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัด กลุ่มแรกคือ เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค หากติดเชื้อจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตได้มากที่สุด กลุ่มที่สองได้แก่หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้รับวัคซีน หากได้รับเชื้อมีโอกาสแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้ อีกกลุ่มที่เสี่ยงคือผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ที่ขาดสารอาหาร อาการป่วยจะรุนแรงและอันตรายกว่าผู้ที่ร่างกายแข็งแรง

สาเหตุของโรคหัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสหัด (Measles virus) โดยไวรัสจะแพร่กระจายจากคนสู่คนเท่านั้น และติดต่อจากการหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อนอยู่เข้าไปในร่างกายหรือการสัมผัสโดยตรงกับน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วยที่เป็นโรคหัด เชื้อไวรัสหัดเป็นเชื้อที่สามารถแพร่กระจายได้ค่อนข้างง่าย โดยคนไข้ที่เป็นโรคหัด 1 คน สามารถแพร่กระจายไปยังคนอื่นๆ ได้ถึง 15 คน

อาการของโรคหัด มักนำด้วยการมีไข้สูง และมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีน้ำมูก ไอ ตาแดง พบจุดสีเทาขาวบริเวณกระพุ้งแก้มตรงข้ามกับฟันกรามซี่ใน โดยจะขึ้นในช่วง 2-3 วัน ที่เป็นโรค หลังจากนั้นจะหายไป นอกจากนี้จะมีผื่นเป็นปื้นสีแดงซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคหัดขึ้น หลังจากเป็นไข้แล้ว 3-4 วัน โดยผื่นจะขึ้นจากบริเวณไรผม มาที่หน้า ลำตัว แขน และลงมาที่ขา แต่เมื่อใดที่ผื่นเหล่านี้ลงมาถึงบริเวณเท้าแล้ว ไข้ก็จะหายไป

ขณะที่ การวินิจฉัยโรคหัด เบื้องต้นแพทย์จะวินิจฉัยจากอาการที่กล่าวมา และทำการเจาะเลือด เพื่อตรวจดูภูมิคุ้มกันต่อโรคหัด ซึ่งสามารถตรวจดูได้ว่า เป็นการติดเชื้อไวรัสในปัจจุบัน หรือเป็นการติดเชื้อไวรัสในอดีตที่เคยมีภูมิคุ้มกันแล้ว แต่ทั้งนี้เราไม่สามารถแยกได้ว่าภูมิคุ้มกันที่มีนั้นเกิดจากการติดเชื้อในอดีตหรือการฉีดวัคซีน โรคหัดอาจส่งผลให้มีภาวะแทรกซ้อน เช่น สมองอักเสบ ปอดอักเสบ เยื่อแก้วหูอักเสบ ภาวะท้องร่วงท้องเสีย ซึ่งอาจเป็นอันตรายอาจส่งผลต่อชีวิตได้

การรักษาโรคหัด ยังไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งทางการแพทย์แนะนำว่าควรได้รับวิตามินเอ เพื่อช่วยลดภาวะแทรกซ้อนของโรคหัด และการรักษาตามอาการ หากมีไข้จะเช็ดตัวและให้ยาลดไข้ ให้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์กับร่างกาย ดื่มน้ำสะอาดมากๆ และต้องนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ที่สำคัญ ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัด ไม่ควรออกไปตามสถานที่สาธารณะ เด็กๆ ไม่ไปโรงเรียน เป็นเวลาอย่างน้อย  4 วัน หลังจากผื่นเริ่มปรากฏ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น

สำหรับ การป้องกันโรคหัด สามารถทำได้ด้วยการฉีดวัคซีน สำหรับเด็กโดยทั่วไปจะได้รับวัคซีน 2 เข็ม เป็นวัคซีนรวมโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม เข็มแรกจะฉีดตอนอายุ 9-12 เดือน เข็มที่สองจะฉีดตอนอายุ 2 ขวบ-2 ขวบครึ่ง สำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน สามารถรับวัคซีนได้ 2 เข็ม โดยเว้นช่วงการรับวัคซีนแต่ละรอบให้ห่างกันอย่างน้อย 28 วัน อย่างไรก็ตาม วัคซีนป้องกันโรคหัดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น มีไข้ หรือมีอาการผื่นขึ้นคล้ายผื่นโรคหัดและหายไปเอง