เมื่อวันที่ 6 ก.ย. เวลา 18.24 น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชินี ทรงเสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ครม.ชุดใหม่ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ได้ถวายสัตย์ฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ความว่า “ข้าพระพุทธเจ้า ( ชื่อผู้ปฏิญาณ ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

ในการนี้มีพระราชดำรัสแก่ ครม. ความว่า “รู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสพบท่านนายกฯ และคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ก็ขอให้พรด้วยความยินดี ให้คณะรัฐมนตรีมีกำลังใจมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้ถวายสัตย์ไปแล้ว เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชน ข้าพเจ้าก็มั่นใจว่าจะปฏิบัติได้อย่างดี ก็ขอเป็นกำลังใจให้ ณ บัดนี้และตลอดไป”

อย่างไรก็ตาม จากการสวอบที่ทำเนียบฯ วันที่ 5 ก.ย.นายทรงศักดิ์ ทองศรี และน.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย ผลตรวจออกมาแล้วพบว่าติดโควิด เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณได้ แต่จะแบ่งเป็นสัดส่วนแยกห้อง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด จากนั้น วันที่ 7 ก.ย. เวลา 09.15 น. ครม.ถ่ายภาพหมู่หน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เวลา 10.00 น. ประชุม ครม.นัดพิเศษ และหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายกฯ และครม. แถลงข่าวร่วมกัน ที่ตึกสันติไมตรี

สำหรับการแบ่งงานรองนายกฯ หรืองานรัฐมนตรีช่วยนั้นยังไม่เรียบร้อย มีบางคนที่ระบุได้ อย่าง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทยในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย บอกว่า การแบ่งงาน รมช.จะดูตามความเหมาะสม คงไม่มีอะไรแตกต่างจากเดิมมาก น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย จากพรรคเพื่อไทย ก็จะรับผิดชอบงานในส่วนของนายเกรียง กัลป์ตินันท์ อดีต รมช.มหาดไทย คือดูกรมการพัฒนาชุมชน และ กทม. แต่ในส่วนพรรคภูมิใจไทย จะมีการสลับสับเปลี่ยนข้าราชการการเมืองใหม่ ( เช่นตำแหน่งที่ปรึกษาหรือเลขาฯ รัฐมนตรี )

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ยังไม่แบ่งงาน แต่กล่าวว่า นโยบายที่กระทรวงสาธารณสุขจะขับเคลื่อนต่อจากนี้คือเรื่องโรค NCDs หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วนเป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มโรคเหล่านี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษามากมายมหาศาล เราจะผลักดันให้เป็นธงใหญ่ของสาธารณสุข แนวทางดำเนินการนั้นเราจะให้ความรู้กับคนทั่วประเทศ เพื่อป้องกันโรคเหล่านี้ อาทิ การกิน การประพฤติตัว การออกกำลังกาย โดยจะใช้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นแกนหลักในการดำเนินการ

ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 2/2567 เพื่อตั้งกรรมการบริหาร ( กก.บห.) ใหม่ หลังจากที่ สส.กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา ที่เป็นกรรมการบริหารพรรค จำนวน 6 คน ได้ยื่นใบลาออกจากการเป็น กก.บห.พรรคไป นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรค ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส ย้ายตำแหน่งนั่งในที่ประชุมสภาว่า “ส่วนตัวตอบไม่ได้ว่าเหมาะสมหรือไม่ เชื่อว่า ประชาชนดูออก และสามารถตัดสินใจเองได้ อะไรที่ไม่ถูกต้องดูแล้วขัดอารมณ์ก็ไม่เหมาะสม ทำอะไรที่ไม่เป็นลูกผู้ชายก็ไม่เหมาะสม พรรค พปชร.หากไม่มีกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัสก็เดินต่อได้ อะไรที่มันเป็นลูกผู้ชายมันก็ชัดเจน อะไรที่ไม่ไม่ใช่ลูกผู้ชาย ทำอะไรแบบไม่ตรงไปตรงมาสังคมก็ไม่ยอมรับ”

ผลการเลือก กก.บห.ชุดใหม่ ที่น่าสนใจ อาทิ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค นายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นเลขาธิการพรรค นายวัน อยู่บำรุง เป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย และมี สส.ในกลุ่ม พล.อ.ประวิตร เป็น กก.บห.พรรค แต่ใน กก.บห.ชุดใหม่ ไม่ปรากฏชื่อ นายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรค พปชร. ที่เป็นบ้านใหญ่เมืองโคราช

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า จากนี้เราจะไม่มีความแตกแยกกันอีกแล้ว เราจะบริหารใหม่โดยใช้รองหัวหน้าพรรคเป็นผู้คุมพื้นที่ และให้เลขาธิการพรรคเป็นฝ่ายสนับสนุน พรรค พปชร.จะยึดมั่นและปกป้องสถาบัน เป็นพรรคเศรษฐกิจทันสมัย ให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ ที่ดี มีชีวิตสดใสขึ้น จะทำเพื่อให้พรรคของเราเข้มแข็ง ให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขต่อไป แต่เมื่อผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ถึงเรื่อง ร.อ.ธรรมนัส กลับได้รับคำตอบเสียงแข็งว่า “เรื่องของธรรมนัสก็ไปถามธรรมนัสสิ”

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ปัญหาในครั้งนี้มันไม่ได้เกิดจากภายในพรรคอย่างเดียว แต่เกิดจากบุคคลภายนอกพรรคที่เข้ามาครอบงำ เข้ามาสั่งการด้วย ดูจากการจัดตั้งรัฐบาลที่มีบุคคลภายนอกเข้ามาสั่งการ ครอบงำ มีการสร้างเงื่อนไขให้เกิดความแตกแยกในพรรค ถ้าภาษาการเมืองเขาเรียกว่า “ดูด” หรือ “งูเห่า” แบบนี้มันไม่ใช่ลูกผู้ชาย มันไม่ใช่กระบวนการทางการเมืองแบบตรงไปตรงมา แต่ยังไม่ถึงจุดที่จะขับ ร.อ.ธรรมนัส ต้องดูสถานการณ์อีกทีว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

“การประชุมพรรคแสดงว่าเราพร้อมทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด การตรวจสอบรัฐบาลมีหลายช่องทาง ทั้งในสภาผ่านการอภิปราย เราจะทำให้เต็มที่ ไม่ต้องเกรงใจกันแล้ว เพราะไม่ได้อยู่ร่วมกันก็ไม่ต้องเกรงใจกัน ทำให้เต็มที่ ส่วนการทำงานร่วมกับพรรคประชาชนต้องพูดคุยกัน อย่างน้อย การอภิปรายในสภาต้องมาคุยเรื่องแบ่งเวลา ส่วนการลงมติก็เป็นเรื่องของแต่ละพรรคที่มีทิศทางอยู่แล้วว่าจะอย่างไร คงไม่จำเป็นต้องตามกันทุกเรื่อง”นายชัยวุฒิ กล่าว

นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรค พปชร. ให้สัมภาษณ์ว่า พล.อ.ประวิตร จะเป็นหัวหน้าพรรคนี้ตลอดไป ทั้งนี้ ยังไม่อยากพูดถึงสถานะของ สส.กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส ขอให้มีมติจาก กก.บห.ก่อน พล.อ.ประวิตรดำริอยู่บ่อยว่าจะเข้าสภา ในเวลาที่สะดวก จะอภิปรายหรือไม่ขอให้รอดู พล.อ.ประวิตรจะซักฟอกใครเป็นพิเศษต้องไปถามเขาเอง แต่คงรู้กันว่าจะตรวจสอบใคร พูดไปหลายครั้งแล้ว

เมื่อพูดเรื่อง “พล.อ.ประวิตรดำริจะเข้าสภา” ก็ถูกตั้งคำถามทันทีว่า “ที่ผ่านมาเคยเข้าสภาไปทำหน้าที่ สส.หรือไม่ ?” ผู้สื่อข่าวสอบถามนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้คำตอบจากประธานสภาว่า เป็นเรื่องส่วนตัวของ พล.อ.ประวิตร หากไม่มาก็ต้องส่งใบลา เพราะเป็นสิทธิ์ของสมาชิกที่หากใครไม่สบายหรือมีเหตุจำเป็นก็สามารถส่งใบลามาได้ ส่วนเรื่องการอนุมัติใบลาต้องไปถาม พล.อ.ประวิตรเอง

เล่นเอาผู้สื่อข่าวต้องถามย้ำว่า การอนุมัติใบลาที่เป็นอำนาจของประธานสภา นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า หากสมาชิกไม่สบายหรือมีภารกิจก็ลาได้ แต่ต้องส่งใบลามาที่สภา ผู้สื่อข่าวต้องถามย้ำว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการช่วยเหลือกันในเรื่องของการอนุมัติใบลาหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ต้องดูข้อบังคับการประชุม และกฎหมายรัฐธรรมนูญ…คำตอบของประธานสภาจึงไม่ทราบว่า “พล.อ.ประวิตรมาประชุมหรือไม่ และลาประชุมถูกต้องหรือไม่”

สำหรับการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2568 พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ให้สัมภาษณ์ว่า วุฒิสภานัดประชุมวันที่ 9 ก.ย. โดยจะใช้การพิจารณาในรูปแบบของ กมธ.เต็มสภา เพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว วุฒิสภา ได้ตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษารายละเอียดที่ทำเป็นคู่ขนานกับสภา จึงสามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จได้

“ทีมข่าวการเมือง”