ในวันที่ “8 กันยายน” ของทุกปี องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ “องค์การยูเนสโก” ประกาศให้เป็น “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ”

โดยปี 2567 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ได้กำหนดให้มีการจัดงานดังกล่าวขึ้นภายใต้แนวคิด “การส่งเสริมการศึกษาแบบพหุภาษา : การรู้หนังสือเพื่อความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเพื่อสันติภาพ” ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้ประโยชน์จากศักยภาพของการรู้หนังสือที่พลิกโฉมไปอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นจึงต้องมีการส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกัน การเชื่อมประสานกันในสังคม และการก่อให้เกิดสันติภาพ 

ยิ่งในโลกปัจจุบัน “พหุภาษา” เป็นเรื่องที่คนจำนวนมากเรียนรู้กันจนเป็นเรื่องธรรมดา การสร้างผู้คนให้แข็งแกร่งด้วยการนำภาษาแม่ หรือภาษาที่หนึ่งมาใช้เป็นฐาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการรู้หนังสือและการศึกษา โดยเฉพาะที่เกิดผลต่อสติปัญญา การสอน และเศรษฐกิจสังคมอย่างมีประสิทธิผล จึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งขับเคลื่อน นอกจากวิธีการดังกล่าวจะสามารถช่วยส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกันแล้ว ยังรวมไปถึงการเคารพให้เกียรติกัน การก่อให้เกิดอัตลักษณ์ของชุมชน และประวัติศาสตร์ที่เข้มแข็งโดยรวม ซึ่งปีนี้ได้มีการคลี่ปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรู้หนังสือในบริบทของพหุภาษา เพื่อผลักดันให้เกิดผลบรรลุสันติภาพอย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นการค้นหาวิธีการแก้ปัญหาที่จะช่วยต่อยอดนโยบายและระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดจนการบริหารจัดการ การจัดทำโครงการต่าง ๆ และการนำไปปฏิบัติให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงการเฉลิมฉลองงาน “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจำปี 2567 ว่า “นานาประเทศทั่วโลกได้ตระหนักชัดถึงความพยายามของ “ยูเนสโก” ในการผลักดันให้การรู้หนังสือของประชาชนทั่วโลกเป็นวาระแห่งโลก (World Agenda) เพื่อขจัดปัญหาการไม่รู้หนังสือของประชากรโลกให้หมดสิ้นไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขของประชากร โดยมีจุดเน้นที่มุ่งหวังให้เกิดขึ้นกับประชากรและสังคมโลกทุกระดับซึ่งแปรเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมในแต่ละปี และสำหรับในปี พ.ศ. 2567 นี้ “ยูเนสโก” ได้กำหนดแนวคิดหลักในการดำเนินการส่งเสริมการรู้หนังสือของประชากรโลก คือ “การส่งเสริมการศึกษาแบบพหุภาษา: การรู้หนังสือเพื่อความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเพื่อสันติภาพ

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ประกอบด้วยสังคมที่เรียกว่า “สังคมพหุวัฒนธรรม” มีประชากรหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้สมาชิกในสังคมไทยมีวัฒนธรรม ประเพณี ภาษา บรรทัดฐาน และความเชื่อแตกต่างกันอย่างหลากหลาย รัฐบาลทุกรัฐบาลได้พยายามสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพความหลากหลายดังกล่าวเพื่อให้สมาชิกในสังคมยอมรับถึงความหลากหลาย ความเป็นตัวตนหรืออัตลักษณ์ในวัฒนธรรมของกันและกันเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขผ่านกลไก “การศึกษา” ซึ่งในส่วนของ ศธ.ส่งเสริมการศึกษาแบบพหุภาษาอย่างเป็นรูปธรรมดังนี้  1.การส่งเสริมการใช้ภาษาถิ่นหรือการใช้ภาษาแม่ของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ควบคู่กับภาษาไทยและภาษาต่างประเทศในสถานศึกษาในระดับประถมศึกษา 2.การจัดทำหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอนที่คำนึงถึงความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมของผู้เรียน 3.การพัฒนาศักยภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีทักษะในการสอนพหุภาษาและการจัดการเรียนการสอนหรือกิจกรรม การเรียนรู้ที่เคารพและเข้าใจในความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม

และ 4.การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรชุมชนในรูปแบบหรือประเภทต่าง ๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการการศึกษาแบบพหุภาษา เช่น กรณีของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี นราธิวาส และยะลา โดยภาพรวมของประชาชนร้อยละ 80 เป็นชาวมุสลิม ใช้ภาษามลายูถิ่นในชีวิตประจำวัน ได้จัดการศึกษาตามแนวทางดังกล่าวของ ศธ.อย่างชัดเจน รวมทั้งจังหวัดในภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศที่มีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม โดย สกร.ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนร่วมกับภาคเอกชนในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งประสบความสำเร็จในหลายมิติ