เมื่อไม่นานมานี้มีคลิปวิดีโอที่ชวนให้ตกตะลึงเผยแพร่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเป็นภาพที่ทีมศัลยแพทย์ชาวอินเดียผ่าท้องของคนไข้รายนี้แล้วพบว่ามีสิ่งของต่าง ๆ อยู่ในร่างกายของเขา เช่น มีดพับ, ลูกกุญแจ, กรรไกรตัดเล็บ 

การผ่าตัดเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คนไข้ในคลิปเป็นชายหนุ่มวัยเพียง 20 ปีเศษ ๆ สำนักข่าวในอินเดียระบุว่าเขากลืนสิ่งของเหล่านี้ลงไปหลังจากที่ทะเลาะกับคนในครอบครัวที่ไม่อนุญาตให้เขาเล่นเกมออนไลน์ยอดนิยม “แบทเทิลกราวดส์” บนโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากเขาติดการเล่นเกมอย่างมาก

หลังจากกลืนสิ่งของต่าง ๆ ลงไปไม่กี่ชั่วโมง เขาก็เริ่มมีอาการป่วย แม่ของเขาเล่าว่า ก่อนหน้าที่เธอจะรู้ว่าลูกชายป่วย เธอเคยถามหากุญแจตู้เสื้อผ้าที่หายไปกับเขา และได้รับคำตอบว่าเขากลืนลงท้องไปแล้ว ตอนนั้นเธอยังคิดว่าเขาแค่พูดเล่น แต่มารู้ในภายหลังว่าเขาทำเช่นนั้นจริง ๆ

หลังจากที่ชายหนุ่มมีอาการทรุดลง ครอบครัวของเขาก็รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลในเมืองโมติฮารี รัฐพิหาร แพทย์สั่งให้ตรวจคนไข้หนุ่มด้วยคลื่นอัลตราซาวด์และพบว่าเขาไม่เพียงแต่กลืนลูกกุญแจลงไปในท้อง แต่ยังมีสิ่งของที่กินไม่ได้อีกเป็นหลายชิ้นอยู่ในกระเพาะของเขา และจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อนำสิ่งเหล่านี้ออกมาจากร่างกายของเขา

นายแพทย์อามิต กุมาร หัวหน้าทีมศัลยแพทย์ที่รักษาคนไข้หนุ่มในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในเมือง ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวว่าการผ่าตัดคนไข้รายนี้ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง สามารถนำสิ่งของออกจากร่างกายของคนไข้ได้หลายชิ้น มีทั้งลูกกุญแจหลายดอก, กรรไกรตัดเล็บ 2 อัน, มีดพับ 1 เล่ม

ดร.กุมารระบุว่าคนไข้กลืนสิ่งเหล่านี้เข้าไปเพราะไม่พอใจที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เล่นเกมออนไลน์ ตอนนี้อาการของเขาถือว่าปลอดภัยดีแล้ว และกำลังฟื้นตัวได้ดี

ด้านแม่ของคนไข้หนุ่มกล่าวโทษโซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ต เธออ้างว่าลูกชายใช้เวลาหน้าจอโทรศัพท์มือถือและเล่นโซเชียลมีเดียมากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อจิตใจของลูกชาย และกลายเป็นปัญหาทางจิตในที่สุด

ทาง ดร.กุมารก็เห็นด้วยกับแม่ของคนไข้ เขามองว่าพฤติกรรมของชายหนุ่มนั้นได้รับอิทธิพลจากโซเชียลมีเดียและเป็นเพราะเขาใช้เวลาเล่นโทรศัพท์มือถือมากเกินไป

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่มีการเปิดเผยผลการวินิจฉัยโรคอย่างเป็นทางการของชายหนุ่ม แต่เป็นไปได้ว่าเขาอาจป่วยเป็นโรคชอบกลืนสิ่งของที่ไม่ใช่อาหาร (Pica) ซึ่งเป็นอาการผิดปกติทางจิตอย่างหนึ่ง ซึ่งพบได้ในกลุ่มเด็กเล็ก สตรีมีครรภ์และผู้มีอาการทางจิต เช่น กลุ่มอาการออทิซึม, ภาวะบกพร่องทางสติปัญญาหรือปัญญาอ่อน, โรคจิตเภท

ที่มา : indiatoday.in, nypost.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES