เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โลกโซเชียลทั่วทั้ง จ.ขอนแก่น ได้เผยแพร่ข้อความจาก ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบประสาท รพ.ศรีนครินทร์ พร้อมข้อความระบุว่า “รพ.ศรีนครินทร์รายรับต่ำกว่าค่ารักษาที่เรียกเก็บเดือนละ 56 ล้าน เป็นมาแบบนี้ 4 ปีแล้วครับ รวมๆ ก็ 2,500 ล้าน แล้วเราก็คงจะมีปัญหาด้านรายรับต่ำกว่ารายจ่ายต่อไปอีกแบบนี้ ถ้า สปสช.และประกันสังคมยังมีแนวทางการทำงานแบบเดิมครับ”
ต่อมาผู้สื่อข่าวได้ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. ได้พบกับ ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบประสาท รพ.ศรีนครินทร์ จึงได้สอบถามถึงเรื่องดังกล่าว
ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขอเรียกสถานการณ์นี้ว่า ผลต่างของรายจ่ายและรายรับที่เกิดขึ้น เพราะรพ.ของรัฐไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อหวังผลกำไร ดังนั้นจะไม่มีคำว่าขาดทุน เมื่อรักษาคนไข้จะมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่นทั้งหมด 1,000 บาท แต่เวลาที่เรียกเก็บจาก สปสช. จะเป็นตัวเลขอีกตัวเลขเนื่องจากว่าใน 1,000 บาท ที่รักษาไปจะมีบางส่วนซึ่งไม่อยู่ในสิ่งที่เบิกได้จาก สปสช. หลังจากรักษาคนไข้ ทาง รพ.จะเรียกเก็บตามที่ สปสช. กำหนดไว้ จากนั้น สปสช.จะจ่ายตามค่ารักษาที่เกิดขึ้น ดังนั้นจะมี 3 ส่วน ค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้น, ค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจาก สปสช., และส่วนที่ สปสช.จ่ายให้ทาง รพ. ดังนั้นตัวเลขที่ รพ.เรียกเก็บกับตัวเลขที่ สปสช.จ่ายจะต่างกันเดือนละ 56 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 670 ล้านบาท
“ประเด็นที่เกิดขึ้นนี้เป็นระยะเวลากว่า 4 ปี และเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในทุก รพ. โดยเฉพาะ รพ.ขนาดใหญ่ที่มีผลต่างที่ได้รับเงินจาก สปสช. เป็นปัญหาเดียวกันทั่วประเทศ แต่ในโรงเรียนแพทย์กับ รพ.ศูนย์ ยิ่งมีเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามารักษาคนไข้มากขึ้น รายการยาที่ใช้หรือเทคนิคต่างๆ จะมีมากกว่า รพ.ขนาดเล็ก ดังนั้นค่าต้นทุนการรักษาโรคเดียวกันจะมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ในความคิดเห็นส่วนตัวต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณให้ สปสช.อย่างเพียงพอ และต้องคำนึงถึงงบประมาณค่าเหมาจ่ายรายหัวที่มีการคิดไว้ต้นปี แต่ความเป็นจริงค่าใช้จ่ายเหมาจ่ายรายหัวไม่เพียงพอ เมื่อไม่เพียงพอไม่ใช่ความผิดของใคร แต่เพราะความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา ต้นทุนในการรักษาพยาบาลสูงขึ้น ในขณะเดียวกันงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวไม่ได้เพิ่มตามไปด้วย แต่ตัวเลขเหมาจ่ายรายหัวก็สูงขึ้นทุกปีจริงๆ ที่รัฐบาลให้มาแต่ยังไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้น จึงอยากให้รัฐบาลมีความเข้าใจตรงนี้มากขึ้น”
ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า สิ่งหนึ่งที่ต้องการเรียกร้องหรือประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบคือ การร่วมจ่ายที่เกิดขึ้นเพราะว่าเมื่อเงินจาก สปสช. ให้มาไม่เพียงพอควรต้องหางบประมาณส่วนอื่นเพิ่ม และหากประชาชนพอมีกำลังทรัพย์สามารถจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนเกินได้ก็ร่วมจ่ายจะทำให้ผลต่างลดน้อยลงไปด้วย ซึ่งอยากให้ประชาชนเกิดความเข้าใจว่าเรื่องงบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาลยังต้องการเพิ่มเติมขึ้นมาอีก ซึ่งถ้ารัฐไม่สามารถให้เพิ่มได้ ประชาชนอาจจะต้องมีส่วนร่วม ถ้าไม่ได้เดือดร้อนอะไร การร่วมจ่ายสิทธิบัตรทองอย่าง 30 บาท ก็อาจจะช่วย รพ.ได้
“มีบางคนเสนอให้ปรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้มากขึ้นเพราะ 30 บาทเริ่มต้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ปัจจุบันเงินเฟ้ออาจจะปรับจาก 30 บาท ส่วนจะขึ้นเท่าไรเป็นเรื่องอนาคตแต่ต้องย้ำว่าคนสูงอายุ เด็ก คนพิการ และคนยากไร้ ที่ไม่มีกำลังทรัพย์ไม่ต้องจ่ายส่วนนี้ แต่คนที่ไม่เดือดร้อนก็ช่วยกันตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยทำให้รายได้ของรพ.มีเพียงพอในการที่จะมาใช้ในการบริหารเพิ่มประสิทธิภาพของรพ.ในการรักษาได้” ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว