เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ชั้น 1 ศาลาว่าการกทม.(เสาชิงช้า) เขตพระนคร นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีพลอากาศเอกสุบิน ชิวปรีชา กรมวังผู้ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พลเอกนายแพทย์ประสาท เหล่าถาวร กรรมการบริหาร และ ประธานโครงการฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พลตำรวจตรีนายแพทย์โสภณ กฤษณะรังสรรค์ กรรมการบริหาร และรองประธานโครงการฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายเขตนภันต์ จุลจิรวัฒน์ อนุกรรมการโครงการฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายเพชรพงษ์ กำจรกิจการ รองผู้อำนวยการสำนักการแพพทย์ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธีเปิด

ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ภาวะวิกฤตของชีวิตนั้นบางครั้งแค่เสี้ยวเดียวที่ทำถูก ทำเป็น และทำทัน ช่วยให้รอดชีวิต หรือไม่เสียหายมากเกินไป เป็นที่น่ายินดีที่ตอนนี้มีผู้สนใจเข้ารับการอบรมมากกว่า 2,000 คนแล้ว จากที่ตั้งเป้า 1,000 คน สำหรับเวลาวิกฤตมีแค่ 4 วินาที หากหัวใจหยุดเต้นแล้วเข้าช่วยเหลือภายใน 4 วินาที มีโอกาสในการอาจจะช่วยชีวิตคืนได้ ซึ่งการเสียสละเวลาครึ่งวันมารับการฝึกอบรมนอกจากมีประโยชน์กับตัวเองแล้ว ยังมีประโยชน์กับคนอื่น

“สำหรับกิจกรรมนี้เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่มีความภูมิใจ อยากให้เกิดความสำเร็จ ทำให้เกิดความยั่งยืน และอยากให้มีการขยายต่อยอดเพื่อช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ ทำให้สังคมปลอดภัย ผู้เข้ารับการอบรมจะเป็นกำลังสำคัญนำความรู้ ทักษะที่ได้รับไปใช้เพื่อตนเอง คนรอบข้าง ซึ่งการช่วยชีวิต 1 ชีวิตมีคุณค่ามาก”

ทั้งนี้ สำนักการแพทย์ โดยศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) จัดโครงการฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อเพิ่มพูนความรู้ และพัฒนาศักยภาพในการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินเบื้องต้นให้แก่ประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ

รวมถึงฝึกทักษะการปฏิบัติการที่ถูกต้อง ในเรื่องการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน โดยการปั๊มหัวใจด้วยวิธีการกดหน้าอก (CPR) และการใช้เครื่องช่วยกระตกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือเออีดี (AED) ที่เน้นการฝึกปฏิบัติแบบเสมือนจริง ซึ่งจะทำให้ผู้เจ็บป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นได้รับความช่วยเหลือที่ถูกต้องได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 300 คน เข้ารับการฝึกอบรม ซึ่งรูปแบบของการฝึกอบรม เป็นแบบไป – กลับ จำนวน 2 รุ่น รุ่นละครึ่งวัน.