นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า กสทช. ได้จัดทำแผนการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลของประเทศไทยระยะ 5 ปี (2567-2571) (โรดแม็พ) เพื่อรองรับในปี 68 และ 70 ที่ประเทศไทยจะมีคลื่นความถี่ที่ได้จัดสรรให้เอกชนสิ้นสุดการอนุญาตให้ใช้งาน คือ คลื่นความถี่ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ 1500 เมกะเฮิรตซ์ 2100 เมกะเฮิรตซ์ และ 2300 เมกะเฮิรตซ์ โดยเตรียมจะนำคลื่นความถี่ดังกล่าวมาจัดประมูลในไตรมาสแรก ปี 68 นี้ เพื่อให้สามารถนำมาจัดสรรใหม่ให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการใช้คลื่นความถี่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และให้เอกชนได้เตรียมความพร้อมในการทำแผนธุรกิจรองรับ
“จากการหารือกับเอกชน มีความต้องการใช้งานในคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ และ 2300 เมกะเฮิรตซ์ ต่อเนื่อง และเห็นด้วยที่จะนำมาประมูลก่อน เพราะได้ลงทุนอุปกรณ์ต่างๆ ไปแล้ว ได้ใช้งานมาเพียง 3-5 ปีเท่านั้น และเมื่อดูไทมไลน์งบประมาณการเงินของเอกชน น่าจะมีความพร้อมด้านการเงินในปี 69 จากภาระการจ่ายค่าใบอนุญาตจะลดลง และการลงทุนในคลื่นดังกล่าวจะไม่มาก ไม่ต้องลงทุนใหม่ทั้งหมด โดยเบื้องต้นส่วนตัวมองว่าควรวางระยะเวลาใบอนุญาตไว้ประมาณ 10-15 ปี ส่วนราคาตั้งต้นประมูลคงไม่สูงเหมือนครั้งก่อนๆ เพราะไม่เช่นนั้นเอกชนต้องตั้งค่าบริการไว้สูง จะส่งผลเป็นภาระกับประชาชนที่ใช้งาน”
นายสมภพ กล่าวต่อว่า สำหรับในส่วนของคลื่นความถี่ 3500 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีแผนจะเรียกคืนมาจัดสรรใหม่ แต่ทางสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) คัดค้าน เพราะปัจจุบันมีฐานคนดูทีวีดิจิทัลผ่านดาวเทียมด้วยจานดำกว่า 60% ซึ่งจะทำให้ฐานคนดูลดลงกระทบต่อเรตติ้งและการประกอบธุรกิจนั้น โดยส่วนตัวคิดว่า น่าจะได้นำมาประมูลในปี 70 และให้มีการเริ่มใช้งานในปี 72 หลังใบอนุญาตของทีวีดิจิทัลหมดลง เพื่อให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้เตรียมตัว และมีเวลาในการเคลียร์คลื่นความถี่ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเห็นของบอร์ด กสทช. ทั้งหมดด้วย
โดยคลื่นย่านความถี่ 3300-3600 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 300 เมกะเฮิรตซ์ จะนำมาใช้ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อรองรับ 5.5 และ 6จี ขณะที่ความย่านความถี่ 3600-3700 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 100 เมกะเฮิรตซ์ จะใช้เป็นการ์ดแบนด์เพื่อกันคลื่นรบกวนกัน ส่วนคลื่น 3700-4200 เมกะเฮิร์ตซ์ ใช้ในกิจการดาวเทียม แต่อย่างไรก็ตามในทางสากล ทาง สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ก็ระบุแล้วว่า คลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์ เหมาะสมที่จะนำมาใช้งานเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ อย่างไรก็ตาม ก็ต้องดูความพร้อมของภาคเอกชนด้วยว่าพร้อมจะลงทุนต่อเนื่องหรือไม่ โดยหากเป็นการประมูลคลื่น 3500 เมกะเฮิร์ตซ์ เป็นคลื่นใหม่ ซึ่งเอกชนต้องลงทุนในเรื่องอุปกรณ์ในการขยายโครงข่ายใหม่ด้วย.